logo
Download ดาวน์โหลด 493 ครั้ง
เข้าชม 993 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

  • หัตถการที่ถูกกระทำขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ไม่มีความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป เรียกว่า หัตถการที่มีคุณค่าน้อย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาในระบบสุขภาพของทุกประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.6% – 2.7% ของค่าใช้จ่ายทางสุขภาพทั้งหมด คิดเป็นเงินประมาณ 75.7 – 101.2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
  • จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การรักษาหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ผ่าตัด โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด การใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention – PCI) และการตัดมดลูกทางหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy) อยู่ใน 8 หัตถการที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มหัตถการที่มีคุณค่าน้อยในสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทย จากระบบบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลการบริการทางการแพทย์ (e-Claim) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2564 พบการทำหัตถการทั้งสองประเภทประมาณ 2-3 หมื่นครั้งต่อปี
  • การระบาดของโควิด-19 มีผลทำให้การเข้ารับบริการทางการแพทย์ลดลง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยในและผู้ป่วยฉุกเฉินลดลง 30% และ 37% ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยนอกลดลงถึง 81% ส่วนรายงานจากหลายบทความพบว่าภาพรวมการเข้ารับบริการลดลง 37% สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าผู้ป่วยนอกลดลง 28% ในช่วงปิดเมือง (Lockdown)
  • การใช้ข้อมูล e-Claim ที่ได้จาก สปสช. แบบไม่ระบุตัวบุคคล พบหัตถการ PCI ที่น่าจะมีคุณค่าน้อย (Possible LVC PCI) ในช่วงสามปีที่ผ่านมาจากมกราคม 2562 ถึง ตุลาคม 2564 จำนวน 4,229 คน จากจำนวน PCI ทั้งหมด 67,157 คน Possible LVC PCI นี้ ซึ่งใช้ทรัพยากรของประเทศไปประมาณ 400 ล้านบาท และมีการสูญเสียชีวิตจากการทำหัตถการประเภทนี้ 52 คน
  • การประมาณจำนวนการตัดมดลูกทางหน้าท้องที่น่าจะมีคุณค่าน้อย (Possible LVC Abdominal Hysterectomy) ด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีความซับซ้อนกว่า คณะผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีหลายด้าน ข้อมูลที่มีอยู่อาจจะมีไม่เพียงพอที่จะกลั่นกรองจำนวนการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องที่อาจมีคุณค่าน้อยได้

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง