logo
Download ดาวน์โหลด 920 ครั้ง
เข้าชม 3605 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงการผ่าตัดผ่านกล้องในประเทศไทย: ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในระดับประเทศ ปี พ.ศ. 2548-2550

วชิรานี วงศ์ก้อม 1
คัคนางค์ ไชยศิริ 2
อุษา ฉายเกล็ดแก้ว 1,2
ยศ ตีระวัฒนานนท์
2
1ภาควิชาเภสัชกรรม สาขาบริหารเภสัชกิจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องใส่เข้าไปตรวจภายในช่องท้องเพื่อการรักษาหรือตรวจวินิจฉัย เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยที่ผ่าตัดผ่านกล้องจะมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้สูญเสียเลือดน้อยกว่า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตหลังการผ่าตัดดีกว่า อย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องมีราคาแพงกว่า ในปัจจุบันวิธีและอัตราเบิกจ่ายของการผ่าตัดผ่านกล้องแตกต่างกันในระบบประกันสุขภาพ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการเข้าถึงบริการการผ่าตัดผ่านกล้องในผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ รวมทั้งเพื่อประเมินความคุ้มค่าของการผ่าตัดผ่านกล้องเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ รวมไปถึงผลกระทบของการผ่าตัดผ่านกล้องทางด้านภาระทางการเงินการคลังต่อระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย

การประเมินการเข้าถึงบริการการผ่าตัดผ่านกล้องในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในของสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ..2550 ตามรายการหัตการ (ICD-9-CM) ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดผ่านกล้องและรหัสโรค (ICD-10) พบว่าโรคที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีอักเสบกลุ่มโรคทางสูตินรีเวช และโรคไส้ติ่งอักเสบ โดยสิทธิประกันสุขภาพของผู้ป่วยเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงบริการการผ่าตัดผ่านกล้องมากที่สุด กล่าวคือ ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถเข้าถึงการผ่าตัดผ่านกล้องมากกว่าผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจเนื่องมากจากวิธีและอัตราเบิกจ่ายของการผ่าตัดผ่านกล้องที่แตกต่างกันในระบบประกันสุขภาพทั้งสอง นอกจากนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีโอกาสทำการผ่าตัดผ่านกล้องมากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก เนื่องจากศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องและเครื่องมือที่มีราคาแพงซึ่งมีพร้อมกว่าในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

ส่วนการประเมินความคุ้มค่าของการผ่าตัดผ่านกล้องเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ นำมาจากข้อมูลงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยเมื่อ พ.. 2548 เรื่องต้นทุนอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยกล้องเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดในการรักษานิ่วในถุงน้ำดี พบว่าต้นทุนอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องคิดเป็น 144,692 บาทต่อปีสุขภาวะในมุมมองของรัฐบาลหรือ 86,464 บาทต่อปีสุขภาวะในมุมมองของสังคม ซึ่งถือว่าการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้องยังมีความคุ้มค่า หากเปรียบเทียบกับเกณฑ์การตัดสินใจที่คณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งกำหนดไว้ที่ 1-3 แสนบาทต่อปีสุขภาวะจากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า แม้ว่าการผ่าตัดผ่านกล้องในโรคนิ่วในถุงน้ำดีมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด แต่ผู้ป่วยภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการ

 

คำสำคัญ: การผ่าตัดผ่านกล้อง, สวัสดิการข้าราชการ, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เชื่อมโยงวารสาร:  http://ejournals.swu.ac.th/index.php/SWUJournal

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง