Extracorporeal Membrane Oxygenation หรือ ECMO เป็นเครื่องมือแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพยุงการทำงานของปอดและ/หรือหัวใจเมื่อมีภาวะล้มเหลวทั้งในกรณีปกติและเฉียบพลัน ใช้ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือปอด ตลอดจนใช้ในการรักษาโรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยการประเมินแบบรวดเร็ว (Rapid Assessment) สำหรับการใช้ ECMO ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้วิธีทบทวนวรรณกรรมแบบเร่งกระบวนการ (rapid review) วิเคราะห์ฐานข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจข้อมูลบริษัทเอกชน และประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการให้บริการ ECMO จัดทำโดยสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยทั้งในกรณีผู้ป่วยทั่วไป และกรณีโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตามไม่ได้กำหนดข้อยุติของการให้ ECMO ไว้ชัดเจน ทั้งนี้ผู้ทำการศึกษาได้เสนอข้อยุติ 2 ทางเลือก ได้แก่ 1) ไม่จำเป็นต้องมีข้อยุติ หากกำหนดการให้ ECMO อย่างจำกัดและให้เท่ากันในผู้ป่วยทุกราย หรือกำหนดจำนวนชุด ECMO ให้ผู้ป่วยเท่ากันทุกคน ซึ่งจะมีผลกระทบงบประมาณใน 5 ปี ประมาณ 26-75 ล้านบาท 2) จำเป็นต้องมีข้อยุติ หากให้ ECMO ตามความจำเป็นซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจใช้ทรัพยากรมากโดยกรณีนี้มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถหาข้อสรุปภาระงบประมาณได้ เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของบริการฯ พบว่าประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่มีเครื่อง ECMO และให้บริการในทุกเขตสุขภาพ (13 เขต) ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
1. สปสช. ควรเพิ่มรายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน บรรจุในรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม เพื่อการบำบัดรักษาโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. สปสช. และสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ร่วมกันพัฒนาระบบการสร้างขีดความสามารถในการติดตามและประเมินผลโดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับประเทศ