logo
Download ดาวน์โหลด 347 ครั้ง
เข้าชม 757 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

บทคัดย่อ
คนพิการส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเด็กซึ่งมักจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการจำกัดการเข้าถึงบริการทางสังคม แม้จะพบว่าความพิการในเด็กจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการ ต่อครอบครัวและต่อเศรษฐกิจ แต่ข้อมูลที่สำคัญก็ยังมีไม่เพียงพอ เช่น ความชุกจำแนกตามกลุ่มอายุ และลักษณะครัวเรือนของเด็กพิการ ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์เด็กพิการแรกเกิดถึง 14 ปี จำแนกตามประเภทความพิการและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพิการ
การศึกษานี้ได้เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี พ.ศ. 2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยศึกษาเฉพาะข้อมูลรายบุคคลของเด็กและครัวเรือนเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี จำนวน 22,499 คน ใน 15,538 ครัวเรือน จากนั้นจึงประมาณค่าข้อมูลตัวอย่างและใช้การถ่วงน้ำหนักข้อมูล (weight) เพื่อให้ได้ค่าประมาณของประชากรทั้งประเทศ
ผลการศึกษา พบว่าเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี มีความพิการด้านร่างกายและ/หรือสติปัญญา ประมาณ 93,129 คน คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของกลุ่มอายุดังกล่าว ส่วนใหญ่มีความพิการแต่กำเนิด (ร้อยละ 0.80) และเมื่อพิจารณาร้อยละของเด็กพิการเทียบกับเด็กปกติของแต่ละกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่มีความพิการสูงคือ กลุ่มเพศชาย (ร้อยละ 0.93) กลุ่มอายุระหว่าง 11 – 14 ปี (ร้อยละ 1.12) กลุ่มหัวหน้าครัวเรือนที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ร้อยละ 1.20) และกลุ่มหัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพ (ร้อยละ 1.16) เด็กวัยเรียนอายุ 5 – 14 ปีที่มีความพิการทางด้านสติปัญญาและ/หรือร่างกายตั้งแต่กำเนิดมากกว่า 1 ใน 3 คนไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิดทางกายร่วมสติปัญญาเกือบทุกคนไม่สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันและออกนอกเขตพื้นที่ได้ (ร้อยละ 81.6 และ 94.5) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพิการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุของเด็กและอาชีพของหัวหน้าครัวเรือน กล่าวคือ เด็กอายุ 7 – 14 ปีมีความชุกของความพิการเป็น 1.39 เท่าของเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี (Adj.OR=1.39; 95%CI=1.05-1.84) ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัทมีความชุกน้อยกว่าครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 51 และ 41 ตามลำดับ
สรุปว่า ความชุกของเด็กพิการที่อยู่ในวัยเรียน (อายุ 5 – 14 ปี) มีมากกว่าวัยอื่นและมักอาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่มีงานทำ เด็กในวัยนี้จึงขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาพิเศษของคนพิการอย่างจริงจัง จะต้องจัดให้เด็กพิการในวัยเรียนได้รับการศึกษาหรือการฝึกอาชีพอย่างเหมาะสมกับลักษณะความพิการ และควรทบทวนและประเมินประสิทธิผลของนโยบายการศึกษาพิเศษ รวมทั้งควรมีมาตรการการจ้างงานแก่หัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในครัวเรือนที่มีคนพิการเพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถดูแลเด็กพิการได้

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง