ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภควิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า จาก 1,380 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2550) เป็น 7,711 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2558) โดยครัวเรือนที่มีรายได้มากจะมีรายจ่ายด้านวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีการบริโภควิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมมากถึง 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) ของรายจ่ายการซื้อวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมของคนทั้งประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของคนไทยในปี พ.ศ. 2558 พบว่า มูลค่ารวมของรายจ่ายด้านวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมสูงกว่าค่ารักษาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเอกชน การบริโภควิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมที่มากขึ้นเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมตามที่ได้โฆษณาไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการรับประทานวิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมที่เหมาะสมและควรควบคุมการผลิตและการให้ใบอนุญาต และมีมาตรการการติดตามหลังการจำหน่าย เช่น การควบคุมโฆษณาและคุณภาพตามฉลาก