การสร้างเสริมสุขภาพกล่าวได้ว่ามีความสำคัญทั้งในแง่ของการพัฒนาทักษะและความสามารถในการดูแลสุขภาพของตนเองทั้งในระดับปัจเจกและเพิ่มพูนศักยภาพในระดับกลุ่มหรือชุมชนเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพของสมาชิกซึ่งสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพโดยรวมของสังคมไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจต้องเสียไปในการดูแลรักษาสุขภาพในระดับประเทศ
มาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในมาตรการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญที่ประเทศไทยให้ความสนใจโดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมาตรการสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการลงทุนทั้งด้านงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ จึงเกิดคำถามว่ามาตรการเหล่านี้มีความคุ้มค่าหรือไม่
ที่ผ่านมาการศึกษาความคุ้มค่าของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ยา วัคซีน หรือเครื่องมือแพทย์ แต่มาตรการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ยังมีการศึกษาค่อนข้างน้อยหรือเป็นการศึกษาในต่างประเทศ สำหรับงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินผลของการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือมาตรการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา โดยการพัฒนาแบบจำลองเพื่อทำนายผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเมินประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ผลการศึกษาจะสามารถนำไปใช้ในการประเมินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพอื่น ๆ ได้ในอนาคต