จิตติ วิสัยพรม; Jitti Wisaiprom; วิทธวัช พันธุมงคล; Witthawat Pantumongkol; วิไลลักษณ์ แสงศรี; Wilailak Saengsri;
บทคัดย่อ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (กองทุน P&P) โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารงบประมาณสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ทั้งนี้ การดำเนินงานด้าน P&P ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการงบประมาณเรื่อยมา การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับรูปแบบการจ่ายค่าบริการ P&P ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบของการจ่ายค่าบริการด้าน P&P ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้วิธีทบทวนวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การทบทวนวรรณกรรมแบบพรรณนา (narrative review) และการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) จากการสืบค้นฐานข้อมูลด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าทั้งสิ้น 12 เรื่อง และยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมแบบพรรณนาอีกจำนวนหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่า มีรูปแบบการจ่ายค่าบริการ P&P 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) การจ่ายค่าตอบแทนตามรายบริการ (2) การจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายรายหัว (3) การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (4) การจ่ายค่าตอบแทนเป็นวงเงินแบบมีเพดานและการจ่ายค่าตอบแทนผู้ให้บริการตามเงินเดือน และ (5) การจ่ายแบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกผลกระทบของการจ่ายค่าบริการด้าน P&P ได้เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ปริมาณและคุณภาพของบริการ ผู้ให้บริการเหนี่ยวนำความต้องการในการรับบริการและการเลือกผู้รับบริการ โดยรูปแบบการจ่ายค่าบริการด้าน P&P แต่ละรูปแบบนั้นมีความเหมาะสมกับบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค อีกทั้งยังมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยการใช้รูปแบบการจ่ายค่าบริการด้าน P&P แบบผสมผสานอาจมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากสามารถนำข้อดีของการจ่ายค่าบริการรูปแบบอื่นๆ มาปรับใช้ได้ รวมทั้งเหมาะสำหรับการให้บริการด้าน P&P ทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของบริการด้าน P&P ที่มีอยู่ด้วย
Full Text: http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4992