สุขภาพของเด็กนักเรียนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองและครูจะมีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน แต่ระบบการศึกษาและสาธารณสุขในปัจจุบัน ยังไม่เอื้ออำนวยให้บุคลากรด้านสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างใกล้ชิดกับผู้ปกครองและครู เพื่อให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพดี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็งบางชนิด เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การศึกษานี้ทำการทบทวนเอกสาร สัมภาษณ์ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรสาธารณสุข ร่วมกับสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหาร นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับบริการอนามัยโรงเรียนทุกระดับ จากการทบทวนข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่าการฉีดวัคซีนและตรวจทันตกรรมมีการบันทึกข้อมูลครบถ้วนที่สุดและอัตราการฉีดวัคซีนและตรวจทันตกรรมสูงใกล้เคียงร้อยละ 100 ในขณะเดียวกันพบปัญหาการเข้าถึงบริการและคุณภาพของข้อมูลสุขภาพในประเด็น 1) ไม่ได้รับบริการตรวจสุขภาพ โดยโรงเรียนเกินครึ่งหนึ่งตอบว่าไม่ได้รับบริการตรวจการได้ยิน 2) ขาดความต่อเนื่องโดยข้อมูลขาดหายไปในบางภาคการศึกษา 3) ไม่แปรผล เช่น น้ำหนักและส่วนสูงไม่ได้นำมาเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน และ 4) อัตราการตรวจพบความผิดปกติต่ำกว่าค่าคาดประมาณ เช่น การตรวจความผิดปกติการมองเห็นที่พบอัตราความผิดปกติจากการคัดกรองเพียงร้อยละ 0.8 คิดเป็น 1 ใน 8 ของค่าคาดประมาณเท่านั้น นอกจากนี้ปัญหาด้านโภชนาการ (อ้วนมาก ผอมมาก และเติบโตไม่สมส่วน) ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในบางพื้นที่และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว ยังคงพบเห็นได้ในการศึกษานี้
จากการประชุมทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการต่างมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินแสดงให้เห็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งด้านโภชนาการ ปัญหาสายตาและการมองเห็น รวมถึงพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยที่ผู้ปกครองและครูส่วนใหญ่ไม่ทราบ สาเหตุส่วนหนึ่งจากระบบการคัดกรองและดูแลช่วยเหลือยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานระหว่างบ้าน โรงเรียน และสถานพยาบาลในพื้นที่ และที่สำคัญคือขาดการบูรณาการด้านนโยบายระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ