ประกาศมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
เรื่อง ประกาศความเป็นส่วนตัวสำหรับกล้องวงจรปิด (CCTV Privacy Notice)
—————————————————————————————————————
1. บทนำ
มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (ซึ่งต่อไปในประกาศนี้ เรียกว่า มูลนิธิ”) ใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) สำหรับการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ในพื้นที่และบริเวณของมูลนิธิ (“พื้นที่”) เพื่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินของมูลนิธิ ลูกจ้าง ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้รับเหมา ผู้มาติดต่อ หรือ บุคคลใด ๆ ที่เข้ามายังพื้นที่ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกรวมกันว่า “ท่าน”)
ประกาศความเป็นส่วนตัวในการใช้กล้องวงจรปิด (“ประกาศ”) ฉบับนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผย (เรียกรวมกันว่า “ประมวลผล”) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถทำให้สามารถระบุตัวท่านได้ (“ข้อมูลส่วนบุคคล”) รวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของท่านตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (“พระราชบัญญัติ”) ดังนี้
2. ประเภทของข้อมูลส่วนบุคคล
มูลนิธิทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดในตำแหน่งที่มองเห็นได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ระบบขัดข้องหรือมีการซ่อมบำรุงระบบ โดยจะจัดวางป้ายเตือนว่ามีการใช้งานกล้องวงจรปิด รวมถึงพื้นที่ที่มูลนิธิเห็นสมควรว่าเป็นจุดที่ต้องมีการเฝ้าระวัง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของท่านดังต่อไปนี้
- ภาพนิ่ง
- ภาพเคลื่อนไหว
- คุณลักษณะของบุคคล เช่น รูปร่าง ส่วนสูง ลักษณะรูปพรรณสัณฐาน เป็นต้น
- ภาพทรัพย์สินของบุคคล เช่น พาหนะ กระเป๋า หมวก เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
- พฤติกรรมของบุคคล รวมถึงกิจกรรมที่ผิดปกติหรือต้องสงสัย
ทั้งนี้ มูลนิธิจะไม่ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่อาจล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของท่านจนเกินสมควร เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ หรือห้องทำงานส่วนตัว เป็นต้น
3. วัตถุประสงค์และฐานในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
มูลนิธิประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านเท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมายเพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของท่านหรือบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของมูลนิธิหรือบุคคลอื่น รวมถึงเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดของวัตถุประสงค์จำแนกตามแต่ละฐานการประมวลผล ดังต่อไปนี้
1) เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของท่านหรือบุคคลอื่น
- เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออันตราย
2) เพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของมูลนิธิหรือบุคคลอื่น
- เพื่อการเฝ้าระวังและการรักษาความปลอดภัยของมูลนิธิรวมถึงบุคคลที่เข้ามาในพื้นที่
- เพื่อการปกป้องทรัพย์สินของมูลนิธิรวมถึงบุคคลที่เข้ามาในพื้นที่จากความเสียหาย
- เพื่อใช้ในกระบวนการทางวินัยหรือการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบภายในของมูลนิธิ
- เพื่อใช้ในกระบวนการระงับข้อพิพาท หรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ตลอดจนการฟ้องร้องทางแพ่งและอาญา
3) เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวน หรือการดำเนินคดี
- เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ หรือ ศาล เป็นต้น ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการยับยั้ง ป้องกัน สืบค้นเหตุอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิด
4. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน
มูลนิธิจะเก็บรักษาข้อมูลที่ได้จากกล้องวงจรปิดไว้เป็นความลับ และจะไม่เปิดเผยแก่บุคคลใด เว้นแต่กรณีที่มูลนิธิมีความจำเป็นเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยตามที่ได้ระบุในประกาศฉบับนี้ โดยมูลนิธิอาจเปิดเผยข้อมูลในกล้องวงจรปิดให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคล รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะตามที่ปรากฏดังต่อไปนี้
- หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนในการบังคับใช้กฎหมาย หรือเพื่อการดำเนินการสืบสวน สอบสวน หรือการดำเนินคดีความต่าง ๆ
- ผู้ให้บริการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้เช่าอาคารหรือสถานที่ เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ รวมทั้งทรัพย์สินของท่านหรือบุคคลอื่น
- ผู้มีส่วนได้เสียจากเหตุการณ์หรือกิจกรรมต้องสงสัยที่เกิดขึ้นในบริเวณหรือพื้นที่ของมูลนิธิ ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของมูลนิธิในการขอข้อมูลจากกล้องวงจรปิด
5. ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
มูลนิธิจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในประกาศฉบับนี้ หรือเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะเก็บไว้เป็นระยะเวลา 30 วัน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว มูลนิธิจะพิจารณาลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอื่นที่มูลนิธิต้องเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของท่านต่อไป
6. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล
มูลนิธิมีมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีมาตรการเชิงเทคนิค (Technical Measure) และมาตรการเชิงองค์กร (Organizational Measure) ในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลให้สามารถเข้าถึงได้โดยเจ้าหน้าที่เฉพาะรายหรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับมอบหมายที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของมูลนิธิอย่างเคร่งครัด ตลอดจนมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลที่ตนเองรับรู้จากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่
นอกจากนี้ เมื่อมูลนิธิมีการส่ง โอนหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลที่สาม ไม่ว่าเพื่อการให้บริการตามพันธกิจ ตามสัญญา หรือข้อตกลงในรูปแบบอื่น มูลนิธิจะกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความลับที่เหมาะสมและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อยืนยันว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่มูลนิธิเก็บรวบรวมจะมีความมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ
7. สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของท่าน
พระราชบัญญัติได้กำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้หลายประการ ทั้งนี้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทน เช่น บิดามารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครอง สามารถติดต่อยื่นคำร้องขอใช้สิทธิต่าง ๆ ได้ผ่านช่องทางตามที่ระบุไว้ในหัวข้อ 8. โดยรายละเอียดของสิทธิต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) สิทธิในการได้รับแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือประกาศฉบับนี้
2) สิทธิในการเข้าถึง รับสำเนา และขอให้เปิดเผยที่มาของข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่มูลนิธิเก็บรวบรวมอยู่ เว้นแต่กรณีที่มูลนิธิมีสิทธิปฏิเสธคำขอของท่านตามกฎหมายหรือคำสั่งศาล หรือกรณีที่คำขอของท่านจะมีผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
3) สิทธิในการขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เพื่อให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
4) สิทธิในการลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ต่อไป
5) สิทธิในการขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
- เมื่อมูลนิธิกำลังตรวจสอบคำร้องขอแก้ไขข้อมูลข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน
- เมื่อมูลนิธิประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลโดยผิดกฎหมาย
- เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลไม่มีความจำเป็นกับมูลนิธิอีกต่อไป แต่เจ้าของข้อมูลประสงค์ให้มูลนิธิเก็บข้อมูลต่อไปเพื่อประกอบการใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีความ
- เมื่อมูลนิธิกำลังตรวจสอบคำร้องขอคัดค้านการประมวลผล
6) สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีที่มูลนิธิดำเนินการภายใต้ฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย
7) สิทธิในการขอรับ ส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบที่สามารถอ่านหรือใช้งานโดยทั่วไปได้ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติและสามารถใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยวิธีการอัตโนมัติ
8) สิทธิในการร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อตรวจสอบ ชี้แจง หรือแก้ไขข้อกังวลจากบริษัท รวมถึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของมูลนิธิไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลยื่นคำร้องขอใช้สิทธิภายใต้พระราชบัญญัติ เมื่อมูลนิธิได้รับคำร้องขอดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการภายใน 30 วัน อนึ่ง มูลนิธิสงวนสิทธิที่จะปฏิเสธหรือไม่ดำเนินการตามคำร้องขอดังกล่าว ขยายระยะเวลาในการตอบรับสิทธิ รวมถึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ในกรณีที่กฎหมายกำหนด
8. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว
มูลนิธิอาจพิจารณาปรับปรุง แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นครั้งคราวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติภายในและพระราชบัญญัติ โดยมูลนิธิจะแจ้งนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นปัจจุบันให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิ
9. การติดต่อสอบถามหรือใช้สิทธิ
ท่านสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้หรือขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติได้ที่
มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
ชั้น 6 อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-590-4549, 02-590-4374-5 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]
ทั้งนี้ ท่านสามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอใช้สิทธิได้ที่นี่