logo

มาทำความรู้จัก HITAP

มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เป็นหน่วยงานวิจัยอิสระในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment: HTA) ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้สนับสนุนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) ของประเทศไทย ทั้งชุดสิทธิประโยชน์ด้านยา บริการสุขภาพ โครงการและหัตถการ รวมถึงวัคซีน ผ่านความร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบาย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ผลงานวิจัยของ HITAP จำนวนมาก โดยเฉพาะการประเมินความคุ้มค่า (economic evaluations) ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขในประเทศไทย หนึ่งในผลงานสำคัญในช่วงแรกคือการประเมินความคุ้มค่าของการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายการล้างไตภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาโครงการล้างไตไตที่ครอบคลุม ทั้งในด้านตัวเลือกวิธีการรักษาและการเข้าถึงบริการ นอกจากนี้ HITAP ยังมีความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านระบบสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงยังร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพ

ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน HTA HITAP ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานทั้งในไทยและนานาชาติให้ดำเนินงานวิจัยประเมินโครงการและบริการสุขภาพทั้งในประเทศไทยและประเทศภาคีอื่น ๆ เช่น เมียนมา ติมอร์-เลสเต และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี โดยในส่วนงานต่างประเทศ HITAP ได้สนับสนุนการพัฒนา HTA ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ภูฏาน ลาว เซเนกัล กานา และเคนยา นอกจากนี้ HITAP ยังพัฒนาทรัพยากรเพื่อสนับสนุนนักวิจัยด้าน HTA โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เช่น Guide to Health Economic Analysis and Research (GEAR) รวมถึงผลงานด้านองค์ความรู้ เช่น หนังสือ Non-communicable Disease Prevention: Best Buys, Wasted Buys, and Contestable Buys ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกร่วมเขียน HITAP ยังทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรในภูมิภาคผ่านเครือข่าย Strengthening Active Partnerships for Policy and Health Intervention Research and Evaluation (SAPPHIRE) ซึ่งมีสมาชิกจากประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น จากการทำงานที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ยกย่อง HITAP ว่าเป็นหน่วยงานวิจัยที่สำคัญต่อความก้าวหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และใน พ.ศ. 2562 Wellcome Trust และ Overseas Development Institute ของสหราชอาณาจักรได้กล่าวถึง HITAP ว่าเป็นตัวเร่งนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs)

หน่วยวิเทศสัมพันธ์ของ HITAP (HITAP International Unit – HIU) มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ ผ่านเสาหลักยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ Policy Catalyst (การพัฒนาและต่อยอดทักษะและความรู้ที่มีอยู่), Ambassadors (การเสริมสร้างความร่วมมือ), และ Knowledge Translators (การจัดการองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ) นอกจากนี้ HITAP ยังขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมวิธีการใหม่ ๆ และประเด็นสำคัญด้าน HTA และงานวิจัยระบบสุขภาพ เช่น สุขภาพดิจิทัล (digital health), การแพทย์แม่นยำ (precision medicine), สุขภาพสิ่งแวดล้อม (environmental health), ความเสมอภาคด้านสุขภาพ (health equity) และ วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science)

ในฐานะเลขานุการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข HITAP สนับสนุนโครงการสำคัญภายใต้ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2565–2569 โดยมุ่งเน้นการบูรณาการแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลและการนำระบบข้อมูลสุขภาพไปใช้ในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับพันธมิตร HITAP กำลังพัฒนากรณีตัวอย่าง (reference cases) สำหรับการประเมินเศรษฐศาสตร์ของการแทรกแซงด้านสุขภาพดิจิทัลและการแพทย์แม่นยำ นอกจากนี้ HITAP ยังทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสนับสนุนการประเมิน (Medical Innovation Development and Assessment Support – MIDAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ HITAP ที่มุ่งสนับสนุนกระบวนการวิจัยและพัฒนา ลดความสูญเปล่าของทรัพยากร และจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้พัฒนา โครงการเหล่านี้สะท้อนถึงแนวทางการปรับตัวของ HITAP ในการตอบสนองต่อความท้าทายที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่:
https://www.hitap.net/en/
https://thesapphire.health/

การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพคืออะไร

การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ Health Technology Assessment (HTA) หมายถึงการศึกษาผลกระทบด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผลกระทบที่พิจารณาอาจรวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและจริยธรรม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยผู้บริหารประกอบการตัดสินใจสำหรับลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรในระบบสุขภาพให้วางอยู่บนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์  ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมสามารถตรวจสอบ และวิพากษ์การบริหารทรัพยากรสาธารณะได้อย่างถูกต้อง เกิดความโปร่งใส

ทำไมต้องประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

เทคโนโลยีและนโยบายนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพมีความหลากหลาย มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีหรือนโยบายที่ใช้ได้ผลดีในสถานที่หนึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับอีกสถานที่หนึ่ง ประกอบกับทรัพยากรในระบบสุขภาพมีจำกัดจึงต้องพิจารณาเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีและนโยบายที่เหมาะสม

ทิศทางการดำเนินงานของ HITAP

จุดมุ่งหมายสูงสุดในการดำเนินงานของ HITAP ได้แก่ การที่สังคมไทย ‘มี’ ‘เข้าถึง’ และ ‘ใช้’ เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เหมาะสม การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบ กระบวนการและหลักเกณฑ์สำหรับการประเมินเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสโดยใช้ระเบียบวิจัยที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังต้องมีการเผยแพร่ผลการประเมินไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบวิชาชีพ/บุคลากรด้านสุขภาพ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้นำผลการประเมินไปใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการประเมิน เช่น ประสิทธิผล ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและความจำเป็นของการมีและใช้เทคโนโลยีแต่ละชนิด ทั้งนี้ จะต้องมีการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการคัดเลือก จัดหา และบริหารจัดการเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม

ความเป็นมาของ HITAP

  • พ.ศ. 2550: HITAP ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ” ซึ่งเป็นโครงการพิเศษภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2551: HITAP สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2551: HITAP สนับสนุนให้มีการจัดทำรายการต้นทุนมาตรฐาน เพื่อให้นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่สนใจการวิเคราะห์ต้นทุน ได้มีข้อมูลต้นทุนสำหรับการศึกษาวิจัยต่างๆ
  • พ.ศ. 2552: คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มอบหมายคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกเหนือจากการพิจารณาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา ได้เพิ่มการพิจารณาการประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล (Cost-effectiveness) ในการบรรจุยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำหน้าที่ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
  • พ.ศ. 2552: คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการศึกษาวิจัยด้วยระเบียบวิธีที่เหมาะสมตามหลักวิชาการเพื่อให้การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน
  • พ.ศ. 2552: HITAP ร่วมกับนักวิชาการด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย จัดทำคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย ซึ่งรับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ใช้เป็นแนวทางและมาตรฐานการประเมินฯ ของประเทศ
  • พ.ศ. 2553: HITAP ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างสมเหตุผล
  • พ.ศ. 2553: HITAP ร่วมกับหน่วยงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพประเทศเกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย ก่อตั้งเครือข่ายเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพแห่งภูมิภาคเอเชีย (HTAsiaLink)
  • พ.ศ. 2553: มีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) เพื่อสนับสนุนการทำงานของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2554: HITAP จัดทำแนวทางการดำเนินงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2556: HITAP ร่วมสนับสนุนการร่างมติสมัชชาสุขภาพระดับภูมิภาค Resolution of the WHO regional committee for South-East Asia on Health Intervention and Technology Assessment in Support of Universal Health Coverage
  • พ.ศ. 2557: ตั้ง HITAP International Unit (HIU) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถทำและสร้างระบบประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วยตนเอง
  • พ.ศ. 2557: HITAP ร่วมสนับสนุนการร่างมติสมัชชาสุขภาพโลก World Health Assembly resolution (WHA67.23) on Health intervention and technology assessment in support of universal health coverage
  • พ.ศ. 2557: HITAP ปรับปรุงเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปีพ.ศ. 2556
  • พ.ศ. 2557: HITAP ในฐานะเลขานุการเพื่อการร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ