logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อก้าวที่สำคัญของการแพทย์ทางไกล Telemedicine ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดการประชุมเพื่อพิจารณาผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของโครงการ “การศึกษาผลของนโยบาย Telemedicine ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565-2567” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนงานโครงการ Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems (HIS) Implementation in Thailand (ConvergeDH) เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน อาทิ กองบริหารการสาธารณสุข สำนักสุขภาพดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก (WHO)

สืบเนื่องจาก ในปีพ.ศ. 2565 – 2567 ทิศทางการดำเนินงานของนโยบายการแพทย์ทางไกล Telemedicine จากกระทรวงสาธารณสุขมีการเปลี่ยนแปลงด้านตัวชี้วัด จากระดับประเทศขยายลงมาเป็นระดับจังหวัดมากขึ้น และมีการปรับจำนวนการรักษาผ่านบริการการแพทย์ทางไกลให้ลดลงจากเดิม ปรับเป็นการรับบริการเฉพาะแค่บางกลุ่มโรคเท่านั้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน จิตเวช และอรรถบำบัด จึงเป็นที่มาในการประชุม นำเสนอผลการสำรวจจากการดำเนินนโยบาย เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายต่อไป

ในวาระนี้ ทีมนักวิจัยจาก โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) นำโดย คุณวิลาวรรณ ล้วนคงสมจิตร, คุณธนายุต เศรณีโสภณ, คุณเฌอริลิณญ์ ประทุมสุวรรณ์, คุณปัญญ์ชนก หมื่นแก้ว, และภญ.นิธิเจน กิตติรัชกุล นำเสนอผลสำรวจจากการเก็บข้อมูลรูปแบบการให้บริการการแพทย์ทางไกล Telemedicine จากโรงพยาบาลทั้งหมด 6 แห่ง โดยการศึกษามุ่งไปการรับและให้บริการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จาก 2 รูปแบบใหญ่ คือ 1) ผู้รับบริการ ที่สามารถรับบริการด้วยตนเอง และมีประวัติการรักษาเก่าอยู่ที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว 2) ผู้รับบริการ ที่รับบริการกับโรงพยาบาลปลายทาง จาก 3 ช่องทางการให้บริการหลัก ได้แก่ ทางโทรศัพท์โดยตรง ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น แอปพลิเคชัน Zoom และทางแอปพลิเคชัน Telemedicince โดยตรง มีข้อค้นพบว่า ความแตกต่างของการเข้ารับบริการนี้ สะท้อนถึงผลลัพธ์และความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งในแง่ข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง ลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากระยะเวลารอคอย ในขณะเดียวกัน มีข้อจำกัดในแง่ของ ความเหมาะสมต่อบุคคล อาการป่วย การสื่อสาร การวินิจฉัย รวมถึงข้อผิดพลาดที่อาจมีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตที่ใช้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้สำรวจเพิ่มเติมถึงเหตุผลของผู้ให้บริการในการเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล Telemedicine พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งให้ปรับใช้นโยบายดังกล่าวในสถานพยาบาล จึงเป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ในการเป็นผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล กล่าวคือ มีภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากบริการการแพทย์ทางไกล ทั้งในแง่ของจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ การทำงานนอกเวลา รวมถึงความกังวลว่าอาจให้การวินิจฉัยได้ไม่แม่นยำเท่าที่ควร เนื่องจากไม่สามารถเห็นท่าทางของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการได้ชัดเจน และที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการในการผลิตสื่อประกอบการนำเสนอขั้นตอนการปฏิบัติตนให้แก่ผู้รับบริการอีกด้วย

ในแง่ของอัตราผู้เข้ารับบริการ และความพร้อมของสถานพยาบาล มีการเก็บสถิติสถานพยาบาลที่มีการให้บริการการแพทย์ทางไกล Telemedicine โดยรวมในปีพ.ศ. 2564 – 2567 (ข้อมูลปี 2567 จำนวน 3 เดือน) พบว่ามีจำนวนผู้รับบริการจากทุกสถานพยาบาลที่มีนโยบายอยู่ที่ 811,556 คน และมีสถิติพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประจวบกับในปีพ.ศ. 2566 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการผลักดันนโยบายการแพทย์ทางไกล Telemedicine ในสถานพยาบาลขยายออกจากโซนกรุงเทพฯ ไปทั่วประเทศ ส่งผลให้เป็นปีที่มีจำนวนผู้รับบริการทะลุเกินกว่า 426,366 คน รวมถึงในปีพ.ศ. 2566 – 2567 ประเภทของผู้รับบริการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ repeat users เป็น one-time users มากกว่า

[รูป]

นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้มีการตรวจสอบอัตราค่าบริการและต้นทุนของการให้บริการการแพทย์ทางไกล Telemedicine โดยในโครงการนี้มีการประมาณการต้นทุนแบบ activity base costing ในมุมมองของผู้ให้บริการตามการปฏิบัติงานจริง โดยประมาณการตาม 2 รูปแบบบริการในปัจจุบัน คือ 1) บริการ telemedicine ที่ผู้รับบริการสามารถรับบริการได้ด้วยตนเอง และ 2) บริการ telemedicine ที่ผู้รับบริการเข้ารับบริการผ่านโรงพยาบาลปลายทาง โดยแต่ละโรงพยาบาลกลุ่มตัวอย่างมีแนวทางการให้บริการแตกต่่างกันไป เช่น ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันของโรงพยาบาลเอง หรือแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยเอกชน

โดยทีมวิจัยได้ทบทวนการเบิกจ่ายของสถานพยาบาล และต้นทุนการให้บริการแต่ละประเภท อ้างอิงและทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัยต่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 91 ฉบับ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพบข้อมูลมากที่สุด ทั้งรูปแบบของการแพทย์ทางไกลแบบใช้วีดิโอ การใช้เสียงอย่างเดียวผ่านการโทรศัพท์ และผ่าน Digita Health app เป็นต้น

จากการสำรวจทั้งในประเทศ และการทบทวนวรรณกรรมต่างประเทศ พบปัญหาส่วนใหญ่คือ ความจำเป็นของใช้บริการลดลง สาเหตุมาจากอาจเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงแล้ว ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่าการเข้าตรวจแบบ On-site มีประสิทธิภาพโดยรวมดีกว่า รวมถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากร ค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลที่ต้องรับผิดชอบ และรูปแบบการเบิกจ่าย เป็นต้น

เมื่อผลการสำรวจเป็นดังข้างต้น ทีมผู้วิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมสมองเพื่อปรับปรุงการแพทย์ทางไกล Telemedicine ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ กล่าวคือ เริ่มต้นให้การแพทย์ทางไกลเป็นบริการปกติของโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ กำหนดรูปแบบการบริการที่ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ควรพัฒนาและปรับให้สถานพยาบาลทุกแห่งใช้แอปพลิเคชันเดียวกัน สอนการใช้งานให้กับบุคลากรผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทำให้แอปพลิเคชันและการให้บริการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พิจารณาการเบิกจ่ายให้รัดกุมและแม่นยำ สนับสนุนโมเดลการให้บริการแก่สถานพยาบาลปลายทาง ควรปรับนโยบายออกเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยนโยบาย และหน่วยปฏิบัติการ

เพื่อให้บริการการแพทย์ทางไกล มีการทำงานที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพในระยะยาว มีการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเรื่อง Cybersecurity และ Telemedicine platform เพิ่มขึ้น เพิ่มลูกเล่นและมุมมองการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงการใช้บริการมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการให้บริการเฉพาะการรักษา มาเป็นบริการป้องกันการเจ็บป่วยและการประเมินสุขภาพ เช่น โปรแกรมการน้ำหนักจากโค้ชออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมองว่า หากเป้าหมายของโครงการการแพทย์ของไกลคือผู้รับบริการ หรือประชาชน ดังนั้น จึงควรมีการจัดตั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้เป็นแก่นหลัก เพื่อให้ได้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริง และให้สามารถพัฒนาโครงการได้ถูกจุดและตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ไม่ใช่แค่การรับฟังเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการเพียงฝ่ายเดียว

การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในครั้งนี้ จึงนำมาซึ่งมุมมองของการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อทำให้การพัฒนาโครงการการแพทย์ทางไกล เป็นไปได้อย่างตรงจุด และเพื่อให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชนในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ต่อไป

—–

ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ

11 ตุลาคม 2567

< Previous post HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

Related Posts