logo

รหัสโครงการ

67033002RM003L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

อยู่ระหว่างการทำวิจัย - 50%

จำนวนผู้เข้าชม: 398 คน

วันที่เผยแพร่ 4 กรกฎาคม 2567 03:27

เกี่ยวกับโครงการ

ประเทศไทยและองค์การอนามัยโลกได้จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy: WHO-CCS) สำหรับปี พ.ศ. 2565-2569 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ มุ่งเน้นใน 4 แผนงานหลัก ดังนี้ แผนงานที่ 1: Landscape analysis ของ Digital Health และ Health Information Systems (HIS) แผนงานที่ 2: การจัดทำมาตรฐานข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล แผนงานที่ 3: การสำรวจและศึกษาเรื่อง Open Data Policy และแผนงานที่ 4: การสำรวจและศึกษาเรื่องโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ (virtual hospitals) และการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในประเทศไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) ได้รับผิดชอบการดำเนินงานในแผนที่ 4

ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจาก HITAP ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวปฏิบัติและแนวทางการติดตามประเมินผลของระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านการถอดบทเรียนในบริบทไทยและบริบทโลก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารายกรณีการพัฒนาและการให้บริการการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนบริการการแพทย์ทางไกลในต่างประเทศ และเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านการใช้งานของระบบการแพทย์ทางไกลและแนวโน้มการใช้งานการแพทย์ทางไกลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและโรงพยาบาล ทั้งนี้ จากการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศแผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems Implementation in Thailand (ConvergeDH) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ 1) ดำเนินการศึกษาต่อเนื่องในด้านความเป็นไปได้และปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริการ telemedicine ทั้งฝั่งผู้รับและผู้ให้บริการ 2) สำรวจความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการ telemedicine รวมถึงศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบและสถาปัตยกรรมข้อมูลด้านสุขภาพ (information system and data architecture) 3) เพิ่มการวิเคราะห์และศึกษากระบวนการและอัตราการเบิกชดเชยค่าบริการ telemedicine ที่เหมาะสม 4) ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยมุ่งเน้นศึกษา 3 กลุ่มบริการ ได้แก่ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มโรคทางจิตเวช และอรรถบำบัด (speech therapy) 5) พิจารณาศึกษาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง (vulnerable groups) และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงความพึงพอใจของผู้ให้และผู้รับบริการ และ 6) พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการป้อนข้อมูลกลับสู่ระบบ (feedback loops) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างของการบริหารจัดการต่อไป

ด้วยข้อเสนอแนะดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยและแผนการดำเนินงานต่อเนื่องปีที่ 3 ของโครงการ WHO-CCS กล่าวคือคณะผู้วิจัยจะศึกษาถึงความพร้อมของสถานพยาบาล การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ประสบการณ์ของผู้ให้และผู้รับบริการ telemedicine รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ทางไกลในระยะต่อไป

เอกสารเพิ่มเติม

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว