logo
Download ดาวน์โหลด 134 ครั้ง
เข้าชม 602 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งการจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (radiofrequency ablation: RFA) สำหรับผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง (chronic low back pain) ได้ถูกนำเสนอโดยกลุ่มแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพในกระบวนการค้นหาหัวข้อเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ เมื่อ พ.ศ. 2562 และได้รับการคัดเลือกให้มีความสำคัญและให้มีการประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบงบประมาณของมาตรการดังกล่าว ก่อนที่คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต จะพิจารณาและนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อตัดสินใจต่อไป

การประเมินความคุ้มค่านี้ดำเนินการตามคู่มือการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยมีการวิเคราะห์แบบต้นทุน-อรรถประโยชน์ (cost-utility analysis) โดยใช้แบบจำลองมาร์คอฟ (Markov model) ในมุมมองทางสังคมและกรอบระยะเวลาที่ 16, 28 เดือนในกรณี base case และ 52 เดือนในกรณี scenario case ที่มีการทำ RFA ซ้ำได้ 1 ครั้ง รวมถึงประเมินผลกระทบด้านงบประมาณ (budget impact) ในกรอบระยะเวลา 5 ปี และการรวบรวมข้อมูลเรื่องความพร้อมของการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคปวดหลังส่วนล่างด้วยวิธี RFA ในประเทศไทย

การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังจากข้อฟาเซตด้วยวิธี RFA เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมหรือประคับประคอง (conservative/supportive care) ได้แก่ การทานยาแก้ปวด การฉีดยา การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย มาตรการให้ความรู้ เป็นต้น ยังไม่มีความคุ้มค่าในบริบทประเทศไทย ซึ่งมีเกณฑ์ความเต็มใจจ่ายที่ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ โดยมีอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มเท่ากับ 537,394 และ 318,536 บาทต่อปีสุขภาวะ ใน base case ที่กรอบระยะเวลา 16, 28 เดือน ตามลำดับ ในกรณี scenario case นั้น หัตถการ RFA มีค่า ICER อยู่ที่ 282,484 บาท/ปีสุขภาวะ นอกจากนี้ ในราคาหัตถการ RFA เฉลี่ยที่ 22,388 บาทต่อครั้ง จะส่งผลให้เกิดภาระงบประมาณอยู่ที่ 3,466 ล้านบาทในปีแรก และ 1,558 ล้านบาทในปีถัดไป สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการรับ RFA ได้ในกรณีของ base case ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาล 17 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีเครื่อง RFA และแพทย์เฉพาะทางจํานวน 112 คนที่สามารถให้หัตถการ RFA ได้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

ถึงแม้หัตถการ RFA ยังไม่มีความคุ้มค่าในประเทศไทยเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิมหรืออนุรักษ์นิยม กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเสนอให้ RFA บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะช่วยลดความแตกต่างในการเข้าถึงบริการลดปวดของผู้ป่วยระหว่างระบบประกันสุขภาพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของระบบบริการลดปวดให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ บางแห่งเท่านั้น การบรรจุ RFA เป็นชุดสิทธิประโยชน์ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพในการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหลังสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในอนาคต ซึ่งอยู่นอกเหนือกรอบการศึกษาในครั้งนี้ นอกจากนี้หากมีการต่อรองราคาให้ราคาหัตถการถูกลง จะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าของการรักษามากยิ่งขึ้นและช่วยลดภาระงบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอให้เพิ่ม RFA เป็นชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีราคาเบิกจ่ายประมาณ 12,000 บาทต่อการบริการหนึ่งครั้ง ในลักษณะของการเบิกจ่ายเพิ่มเติม (on top) ในกรณีผู้ป่วยนอก

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง