logo
Download ดาวน์โหลด 1001 ครั้ง
เข้าชม 2389 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ชนิดา เลิศพิทักษ์พงค์ *
มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ *,**
ประพักตร์ เนรมิตพิทักษ์กุล *,**
อุษา ฉายเกล็ดแก้ว *,**
ยศ ตีระวัฒนานนท์ *

*โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
**ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีทุนมนุษย์ (human capital approach) ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมีค่าเท่ากับผลคูณของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับค่าแรงเฉลี่ยตลอดอายุขัยหากมีชีวิตอยู่จำแนกตามเพศและอายุโดยทำการปรับลดค่าของเงินด้วยอัตราปรับลด (discount rate) ร้อยละ 3 ทั้งนี้ค่าแรงเฉลี่ยตลอดอายุขัยหากมีชีวิตอยู่จำแนกตามเพศและอายุได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ. 2549 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยที่จะมีชิวิตอยู่ต่อและจำนวนผู้เสียชีวิตได้จากคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง

ผลการศึกษาพบว่าใน พ.ศ. 2549 มีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 39,459 คนโดยจำแนกเป็นเพศชาย 33,493 คนและเพศหญิง 5,966 คน ก่อให้เกิดจำนวนปีที่สูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรรวมเท่ากับ 1,390,899 ปี จำแนกเป็นจากเพศชาย 1,164,552 ปี และเพศหญิง 226,348 ปี คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียผลิตภาพรวมทั้งสิ้น 104,128 ล้านบาท โดยมาจากเพศชาย 95,804 ล้านบาทและ เพศหญิง 8,324 ล้านบาท โรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพเป็นมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกในเพศชายได้แก่ โรคเอดส์ (36,277 ล้านบาท) อุบัติเหตุจราจรทางบก (26,989 ล้านบาท) โรคตับแข็ง (13,044 ล้านบาท) มะเร็งตับ (11,836 ล้านบาท) และภาวะติดแอลกอฮอล์ (2,294 ล้านบาท) ตามลำดับ ขณะที่เพศหญิงได้แก่ โรคเอดส์ (3,580 ล้านบาท) อุบัติเหตุจราจรทางบก (2,796 ล้านบาท) มะเร็งตับ (706 ล้านบาท) โรคตับแข็ง (616 ล้านบาท) และมะเร็งเต้านม (175 ล้านบาท)  ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายหรือมาตรการในการลดผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ต่อไป

 

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง