logo
Download ดาวน์โหลด 1034 ครั้ง
เข้าชม 4288 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

พฤติกรรม ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง

ในเขตปริมณฑลและบทบาทของการตลาดเพื่อสังคม

รุ่งนภา คำผาง*          จอมขวัญ โยธาสมุทร*          ทรงยศ พิลาสันต์*

เชิญขวัญ ภุชฌงศ์*     กัลยา ตีระวัฒนานนท์*          ศิริญญา ธีระอนันต์ชัย*

รักมณี บุตรชน*         ศรีเพ็ญ ตันติเวสส*               ยศ ตีระวัฒนานนท์*

* โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งศึกษาการสร้างเสริมสุขภาพทีประยุกต์แนวคิดการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมในการป้องกันและควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มพนักงงานโรงงาน ใช้วิธีวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณในกลุ่มพนักงานโรงงานและผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ศึกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนธันวาคม 2553 การศึกษาเชิงคุณภาพใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์คนในชุมชน เพื่อทำความเข้าใจบริบทและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นใช้ข้อค้นพบมาพัฒนาแบบสอบถามและสำรวจแบบภาคตัดขวาง สุดท้ายจัดสนทนากลุ่มเพื่อหาคำอธิบาย และตรวจสอบข้อค้นพบ

ผู้พักอาศัยในชุมชนแห่งนี้ร้อยละ 60 มีรายได้ต่อครัวเรือนเดือนละประมาณ 10,000-20,000 บาทร้อยละ 90 มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 55 ส่วนใหญ่ดื่มเบียร์ เหตุผลในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมุมมองของประชาชนที่ศึกษาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน ผ่อนคลายความเครียดและแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ปัจจัยที่ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือการบริการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การขายแอลกอฮอล์นอกเวลาที่อนุญาต การแบ่งขายสุราและยาดองเป็นเป็ก และการมีร้านขายสุราในบริเวณที่พัก การสื่อสารมาตรการกำหนดเวลาอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถควบคุมร้านค้าในชุมชนได้ ส่วนการรณรงค์งานบุญปลอดเหล้าได้รับความร่วมมือดี

ควรให้ความรู้ที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนทัศนคติต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านวิธีการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ควรใช้การตลาดเพื่อสังคมร่วมกับการสื่อสารมาตรการทางกฎหมายในการบรรลุเป้าหมายของนโยบายลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คำสำคัญ:  การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยทำงาน, ปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม