logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
บทบาทของ HTA ในระบบสุขภาพหลังโควิด-19 ควรเป็นอย่างไร?

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 พลิกโฉมระบบสุขภาพทั่วโลกไปมาก และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่โควิด-19 ช่วยให้เห็นชัดเจน คือ ความสำคัญอย่างยิ่งของข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ การรับมือโควิด-19 ในช่วงแรกเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมนุษยชาติมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อและโรคโควิด-19 น้อยมาก วัคซีนแบบไหนจะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผล นโยบายรับมือแบบไหนจะดีที่สุด เราไม่รู้เลย แต่ทุกประเทศต้องรีบทำอะไรสักอย่าง ประเทศต่าง ๆ จึงต้องตัดสินใจบนข้อมูลที่จำกัดเท่าที่มีและปรับนโยบายไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบจุดที่เหมาะสมกับประเทศของตน ในช่วงนี้ HTA ซึ่งมุ่งเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพเพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง

 

ในการประชุมวิชาการนานาชาติ HTAsiaLink เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาในหัวข้อนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเสวนามาจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อ HTA และคาดการณ์เกี่ยวกับบทบาทของ HTA หลังจากนี้ในประเทศของตนและในระดับโลก

 

โควิด-19 ทำให้มีความต้องการข้อมูลอย่างเร่งด่วน

ในกรณีของอินเดีย ในช่วงโควิด-19 มีการทำวิจัย HTA เต็มรูปแบบไม่มาก เนื่องจากกระบวนการ HTA แบบเต็มรูปแบบกินเวลานาน โดยอาจใช้เวลาเป็นปีนับตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ เพื่อให้ได้ข้อมูลทันแก่การใช้งานของผู้กำหนดนโยบายในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก นักวิจัย HTA จึงเปลี่ยนมาทำการประเมิน HTA อย่างเร็ว (rapid HTA) มากขึ้นแทน โดยการประเมินแต่ละชิ้นใช้เวลา 6-9 เดือน แต่การทำ rapid HTA ก็มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญ เนื่องจาก rapid HTA เองก็มีข้อจำกัด และหากจะให้ข้อมูลเชื่อถือได้ กระบวนการ rapid HTA ก็ต้องมีคุณภาพและโปร่งใส ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพัฒนากันต่อไป

 

โควิด-19 เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านทางโซเชียลมีเดียในไต้หวัน

ในไต้หวัน กระบวนการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาใหม่ ๆ จะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ได้ จากนั้นจะมีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดสินใจในเบื้องต้นก่อนจะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย โดยจะมีตัวแทนผู้ป่วยเข้าร่วมประชุมด้วยโดยไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงกำหนดนโยบาย การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการที่ผู้ป่วยมีส่วนร่วม ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย หรือผ่านการประชุมออนไลน์ เช่น ทาง Zoom หรือ WebEx ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

 

โควิด-19 เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการรู้ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ในเกาหลีใต้ มีการทำ horizon scanning ซึ่งเป็นการติดตามและค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด หรือตั้งแต่ขั้นตอนพัฒนา และหาข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ประสิทธิผล และความคุ้มค่าของเทคโนโลยีเหล่านั้น เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลอยู่ในมือตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหญ่ มีความต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีความสนใจเรื่องการแพทย์ทางไกล เพิ่มขึ้นอยากเห็นได้ชัด เพื่อนำมาใช้รับมือกับโควิด-19

 

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเห็นตรงกันว่าอย่างไรก็ตาม การวางรากฐาน HTA ที่มั่นคงในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบสุขภาพหลังโควิด-19 ทั้งเพื่อให้ HTA สนับสนุนกระบวนการที่มีอยู่แล้วได้ดีขึ้น และตอบประเด็นนโยบายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นด้วย ในโลกหลังโควิด-19 จะมีการนำกระบวนการใหม่ ๆ วิธีใหม่ ๆ ในการรักษาพยาบาลและให้บริการแก่ผู้ป่วยและประชาชนอย่างต่อเนื่อง หาก HTA สามารถก้าวทัน หรือก้าวนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ก็จะช่วยให้การกำหนดนโยบายโดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการประกอบการตัดสินใจเป็นไปได้อย่างราบรื่น

 

เรียบเรียงจาก Plenary Session 1 ใน HTAsiaLink Annual Conference 2022 ภายใต้หัวข้อ Reimagining the Post-COVID Health System and HTA โดย Prof. Shankar Prinja (Post Graduate Institute of Medical Education and Research อินเดีย) Ying-Li (Tommy) Chen (Center for Drug Evaluation ไต้หวัน), Dr. Miyoung Choi (National Evidence-based Health Care Collaborating Agency เกาหลีใต้ และ Dr. Tessa Tan-Torres Edejer (องค์การอนามัยโลก)

ภาพที่เกี่ยวข้อง

31 มกราคม 2566

Next post > ทำ HTA ให้ “สมจริง” ด้วยข้อมูลจากสถานการณ์จริง ทำได้อย่างไร เหมาะสมไหม

< Previous post 15 ปี HITAP 15 การทำงานเด่น (part3) 5 งานผลงานระดับชาติและนานาชาติ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ