logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
[Press Release] ร่วมเรียนรู้บทบาทนักวิจัย HTA สู่การนำผลงานไปใช้ในการกำหนดนโยบายสุขภาพ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดการประชุม “เปิดพื้นที่วิจัยระบบสุขภาพ สู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” และประกาศกรอบการวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ โรงแรมอัศวิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการ/นักวิจัยอาวุโส และคณะวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมเป็นผู้บรรยายในการประชุมย่อย ภายใต้ประเด็นการทำวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment: HTA) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานระดับประเทศ ได้แก่ 1) รศ. นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ ประธานคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อและจัดลำดับความสำคัญเข้าสู่การประเมินความจำเป็นและผลกระทบเพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข 2) นริศา มันฑางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3) ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส.

การเข้ามามีส่วนร่วมของนักวิจัยในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิม หรือสิทธิประโยชน์ใหม่เพื่อให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ HITAP จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เช่น กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ประชาสังคม ประชาชนทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้านการออกแบบกรอบการดำเนินงานและระยะเวลาในการทำวิจัยจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของข้อมูลและความเร่งด่วนในการใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายสุขภาพ ผ่านการทำวิจัยการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพแบบ Full HTA และการประเมินแบบรวดเร็ว (Rapid Assessment) โดยนักวิจัยจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานได้ทั้งในฐานะผู้ทำวิจัย และผู้ตรวจ/ทบทวนงานวิจัย

 

ชนิดา เอกอัครรุ่งโรจน์ นักวิจัย HITAP ได้นำเสนอโครงการวิจัยที่ใช้การประเมินแบบรวดเร็ว (Rapid Assessment) กรณีศึกษาเรื่อง โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการใช้ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลันให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ถูกบรรจุในสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยการศึกษานี้ใช้เวลาทำการศึกษาเพียง 6 สัปดาห์ คือตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. – 11 ก.ย. 63 เป็นการศึกษาความพร้อม ข้อบ่งชี้ของบริการ ข้อยุติ ผลกระทบด้านงบประมาณ การกำกับติดตามประเมินผล การสำรวจข้อมูลราคา และวิเคราะห์ข้อมูลบริการทางการแพทย์ (e-claim) ของสปสช. ทั้งนี้ การศึกษารูปแบบนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น อาจไม่ครอบคลุมการทบทวนวรรณกรรมบางอย่าง ขาดข้อมูลการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และมาจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเดียว เป็นต้น

ด้านการดำเนินงานวิจัยการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพแบบ Full HTA ดร. ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัย HITAP ได้นำเสนอตัวอย่างในโครงการวิจัยของ HITAP ที่เป็นการผลักดันเชิงนโยบายจากงานวิจัยประเภทการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเรื่อง การประเมินเทคโนโลยีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม: มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม และ การศึกษาการขยายบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย : ความเป็นไปได้ ต้นทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีการศึกษาตั้งแต่ด้านต้นทุนและผลลัพธ์ของปีสุขภาวะ ปัจจัยที่ส่งเสริมในการให้บริการ ความเป็นไปได้ในการนำนโยบายไปปรับใช้ในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงผลกระทบด้านงบประมาณเพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งใช้ระยะเวลากว่าสิบปีจึงจะถูกผลักดันเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (หรือสิทธิบัตรทอง) ประจำปี 65 ที่ผ่านมา

สำหรับท่านใดที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการมีส่วนร่วมในการทำวิจัย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ การเสนอหัวข้อสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP) และสมัครเป็นทีมวิจัย

ในการบริหารและจัดการงานวิจัยเพื่อไปถึงเป้าหมายอย่างสัมฤทธิ์ผล ศุภานัน ขาวสุด หัวหน้าทีมบริหารปฏิบัติการ HITAP เป็นผู้บรรยายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักบริหารอาวุโส ได้แก่ 1) นวรัตน์ วาจานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน 2) โสภิชา เล้าเกต หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน 3) วรรณพร บุญเรือง นักบริหารโครงการอาวุโส และ 4) ณัฐิญา ศิลปอนันต์ นิติกรอาวุโส

“การทำงานของทีมบริหารปฏิบัติการหรือ Operations Management Team (OMT) ถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าของโครงการวิจัย ในการดำเนินงานเรื่องเอกสารและขั้นตอนอื่น ๆ ที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการ เปรียบเสมือนฟันเฟืองหลังบ้านและสะพานที่เชื่อมระว่างแหล่งทุนและนักวิจัยเข้าด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนการทำงานจะเริ่มตั้งแต่การแจ้งข่าวสารการเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยของแหล่งทุนแก่นักวิจัย การให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงร่างงานวิจัย การร่างสัญญา การควบคุมค่าใช้จ่ายของโครงการเพื่อให้การใช้เงินมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด การติดตามการทำงานและนำส่งผลงานตามกำหนด ตลอดจนนำส่งรายงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วแก่แหล่งทุนและนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์แก่เครือข่ายพันธมิตรขององค์กร” ศุภานัน กล่าว

พร้อมเสริมว่า “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้การดำเนินงานวิจัยเป็นไปได้อย่างสะดวกและลื่นไหลยิ่งขึ้น ทีม OMT มีความพร้อมที่จะให้ข้อแนะนำและปรึกษาข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนี้ หากท่านใดมีความประสงค์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ HITAP หรือทางอีเมล [email protected]

รับชมถ่ายทอดสดย้อนหลัง หัวข้อ “การบริหารและจัดการงานวิจัยเพื่อไปถึงเป้าหมายอย่างสัมฤทธิ์ผล” ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=716058290172428

17 มกราคม 2566

Next post > [ข่าวประชาสัมพันธ์] นักวิจัย HITAP หารือ 11 หน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชน ประเด็นผลกระทบการเพิ่มเพดานความคุ้มค่ากับการตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

< Previous post [Press Release] ดร. นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ชื่นชม HITAP ย้ำสร้างความร่วมมือ ใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และสื่อสารงานสู่สาธารณะ

Related Posts