logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จากงานวิจัยสู่ภาพจริง” ระบบบริการสุขภาพที่คุณต้องการเป็นอย่างไร?

ในสังคมอุดมคติ ทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้โดยปราศจากภาระทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตทางสุขภาพและผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น

เนื่องในโอกาสวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 12 ธันวาคม ประเทศไทยได้มีการจัดงาน วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2022: สร้างโลกอย่างที่เราอยากจะให้เป็นสร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน  (International Universal Health Coverage Day 2022: Build the World We Want: A Healthy Future for All) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนักการทูต ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายวิชาการเข้าร่วมงาน เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพของรัฐ ประโยชน์ต่อครัวเรือนไทย และการลดความยากจน รวมถึงเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่มีมา 20 ปีให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยไม่ใช่แค่เอื้อให้สิทธิประโยชน์มีความครอบคลุม แต่ต้องมีความคุ้มค่าและเข้าถึงได้

นอกจากการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อรองรับการพัฒนาสิทธิประโยชน์แล้ว หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ระบบบริการสุขภาพไทยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นคือ การดำเนินงานวิจัยเพื่อติดตามผลการทำงาน วิเคราะห์ข้อมูล และนำผลการศึกษาที่ได้มาพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่อไป โดยในงานนี้มีตัวแทนนักวิจัยจากหน่วยงานด้านสุขภาพมาร่วมแบ่งปันข้อมูล รวมถึงให้ข้อแสนอแนะในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ และประโยชน์ต่อครัวเรือนไทย ดร.วุฒิพันธุ์ วงษ์มงคล นักวิจัยด้านการเงินการคลังสุขภาพ (Health Financing) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า “หลังประเทศไทยมีการปรับใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นโดยมีสัดส่วนที่มาจากรัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองของครัวเรือนลดลง สะท้อนให้เห็นถึงเปลี่ยนแปลงของระบบการคลังด้านสุขภาพจากครัวเรือนสู่ภาครัฐอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ต้องจ่ายเอง (Out-of-pocket: OOP) ลดลงทั้งในครัวเรือนที่ร่ำรวยและยากจน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ครัวเรือนเจอวิกฤตทางการเงินจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนด้วย”

ส่วนทิศทางการเงินการคลังสุขภาพในการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความเห็นไว้ดังนี้ “ที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระดับบุคคล แล้วเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างยั่งยืน?

การจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ต้องให้ความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายหลักคือ การทำให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถดำรงชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีทักษะทั่วไป เช่น การเงินและดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในปี 66 ที่จะถึงนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญหลายด้าน ได้แก่ โครงสร้างประชากร ต้นทุนในการรักษาพยาบาล แนวโน้มด้านสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงรายได้ของประชากร แนวโน้มค่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายด้านการเงิน โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติเก่าหรือโรคอันตรายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จากการศึกษาและคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพในอนาคตปี 66 – 86 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า หากรัฐไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อาจทำให้มีการใช้จ่ายด้านนี้พุ่งไปถึง 2.13 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 10 ของ GDP (Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) แต่หากมีการควบคุมของรัฐจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ให้อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทได้ ดังนั้น บทบาทผู้นำด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และควรมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยหลัก 3D คือ 1) Digitalization: การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น การรักษา การบริหารจัดการฯ 2) Data-driven: การขับเคลื่อนหรือดำเนินงานด้วยข้อมูลเป็นหลัก และ 3) Diligence: มุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุด รวมถึงต้องให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้มาตรการส่งเสริมและป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) การลดการรักษาที่ไม่จำเป็น (unnecessary care) ส่งเสริมระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care) เช่น สนับสนุนคลินิกในชุมชนต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการนำใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านขายยา รวมถึงการออกนโยบายโดยมีมาตรการที่สอดคล้องชัดเจน การรักษาพยาบาลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เป็นต้น”

 

นอกจากมาตรการของทางภาครัฐแล้ว ประชาชนทั่วไปและการทำวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและลดค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยของประชาชน รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการและนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนี้ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจะนำเราไปสู่อนาคตที่ดีได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีหลักสำคัญ คือ จะต้องเป็นระบบ (Systematic) โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ (Transparent) มีหลักฐานที่ใช้ประกอบกระบวนการตัดสินใจ (Evidence-informed) และเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน (Participation) โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอหัวข้อหรือความคิดเห็นได้ผ่านทางเว็บไซต์ ucbp.nhso.go.th หรือผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่นไลน์ @nhso หรือสายด่วน 1330 เมื่อได้รับหัวข้อแล้ว มีกระบวนการคัดเลือกหัวข้อและทำวิจัยต่อไปเพื่อให้ทราบว่าควรบรรจุหัวข้อดังกล่าวเข้าในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่

การทำ HTA research หรืองานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายสุขภาพในด้านความคุ้มค่าและคุณค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี ตัวอย่างเช่น การบรรจุการใช้เครื่อง Extracorporeal Membrane Oxygenator หรือเครื่อง ECMO ในการรักษาภาวะหัวใจ และหรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลันลงในชุดสิทธิบัตรทอง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ และอุปกรณ์ในการรักษามีราคาแพง ดังนั้น จึงมีการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Economic evaluation) เพื่อใช้ในการสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และบรรจุเข้าชุดสิทธิประโยชน์ในท้ายที่สุด”

การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอหัวข้อ และการทำวิจัยมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สิ่งสำคัญ คือ “การก้าวไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้สรุปการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเน้นย้ำหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้ “การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใช้หลักการ Sustainable Development Goals : SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2558 จนถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

การพัฒนาจะมุ่งเน้นไปที่หลัก SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 3.8 คือ การบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ดังนั้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพเมื่อจำเป็นและไม่ต้องเกิดความยากลำบากทางการเงิน

นอกจากนี้ มีการใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยรัฐบาลจะต้องสนับสนุน รักษาพันธสัญญากับประชาชน และภาคประชาชนต้องร่วมกันขับเคลื่อนทางสังคม ในขณะเดียวกัน นักวิชาการมีส่วนช่วยในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการด้านสุขภาพต่าง ๆ และการทำวิจัย เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่สำเร็จและยั่งยืนโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้าวหลัง และเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน”

 

ที่มา: งานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2022 “สร้างโลกอย่างที่เราอยากจะให้เป็น สร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน” วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 เสวนาวิชาการ ภาคเช้า เวลา 09.00 – 11.00 น.

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จากงานวิจัยสู่ภาพจริง”

#HealthforAll #UHCday

 

15 ธันวาคม 2565

Next post > 15 ปี HITAP 15 การทำงานเด่น (part2) 5 ผลงานการพัฒนาระบบสุขภาพ

< Previous post 15 ปี HITAP 15 การทำงานเด่น (part1) 5 ผลงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อคนไทยทุกคน

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ