logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ทำความรู้จัก “โรคอัลไซเมอร์” ภาวะสมองเสื่อมที่เป็นมากกว่าอาการขี้หลงขี้ลืม

หากพูดถึงโรคที่เกิดในผู้สูงอายุ หลายคนมักนึกถึงโรคอัลไซเมอร์ และนึกถึงภาพผู้สูงอายุที่มีอาการขี้หลงขี้ลืม เช่น ลืมว่าวางของที่ใช้ประจำไว้ตรงไหน จำไม่ได้ว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จำลูกหลานไม่ได้ ลืมไปว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง จริง ๆ แล้ว โรคอัลไซเมอร์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอายุที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานได้อีกด้วย อีกทั้งโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หาย อาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ จากขั้นความจำเริ่มถดถอยไปจนสู่ขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนนำไปสู่การติดเชื้อและต้องจบชีวิตในที่สุด

อัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของกลุ่มโรคผิดปกติทางสมอง  พบได้มากในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่บางรายอาจเริ่มเป็นตอนอายุ 40 ปี อัลไซเมอร์เกิดจากความเสื่อมถอยในการทำงานของสมองจากโปรตีนชนิด เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษาและพฤติกรรมของผู้ป่วย ทำให้จำช่วงเวลาและเหตุการณ์ได้ไม่แน่นอน ความจำเสื่อม อารมณ์ไม่สม่ำเสมอ เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

 

อัลไซเมอร์ไม่ได้เกิดแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย

ในกลุ่มผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าร้อยละ 25 ของผู้ที่มีอายุ 85 ปี ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนซึ่งมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ยังมีส่วน หากบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือปัญญาอ่อน ก็มีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้น และอาจเกิดจากผู้ที่มีภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน ภาวะขาดสารอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ และมีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ น้ำหนักเกินมาตรฐาน ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย

อาการทั่วไปของอัลไซเมอร์สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะแรก – อาการในช่วงระยะต้นจะแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะมีความจำถดถอย ทำอะไรซ้ำ ๆ เครียด อารมณ์เสียง่าย ซึมเศร้า ความสามารถในการตัดสินใจต่ำ ลังเล สับสนทิศทาง แต่ยังสามารถสื่อสารและใช้ชีวิตประจำวันได้

2. ระยะกลาง – อาการรุนแรงยิ่งขึ้น จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมาก อารมรณ์แปรปรวน เช่น จากคนใจเย็นจะกลายเป็นมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดภาวะสับสนและสูญเสียการรับรู้ด้านสถานที่ เวลา และบุคคล เช่น หลงทาง เดินไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้วันเวลา มีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำอะไรซ้ำ ๆ มีปัญหาด้านการสื่อสาร เกิดอาการประสาทหลอน หวาดระแวงหรือสงสัยในตัวผู้ดูแลหรือครอบครัว

3. ระยะท้าย – อาการรุนแรงขึ้นอย่างมาก ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง ร่างกายทรุดโทรม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีอาการชัก สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาตั้งแต่วินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี

 

อัลไซเมอร์และการรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน

หากพบว่าตนเองหรือคนในครอบครัวมีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา สถานที่ หลงทิศทาง จำบุคคลที่เคยรู้จักไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร พูดซ้ำ ๆ หรือซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล เข้าข่ายการเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดแจ้งให้ทราบ และสอบถามครอบครัวหรือคนรอบข้างเกี่ยวกับสุขภาพและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย ทดสอบความคิด หรือใช้การเอกซเรย์สมอง เพื่อแยกโรคอัลไซเมอร์ออกจากโรคสมองอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงพิจารณาส่งให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตรวจรักษาโรคต่อไป

แพทย์จะรักษาการอาการโดยการช่วยยืดอายุการดำเนินโรค เน้นประคองให้อาการไม่แย่ลง และมีวิธีการหลัก 2 วิธี ดังนี้

1. การใช้ยา – วิธีนี้จะช่วยควบคุมอาการเสื่อมของสมอง โดยยาที่ใช้จะออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท แต่อาจไม่ช่วยให้ความจำดีขึ้นมานัก

2. การดูแลสุขภาพตนเอง – เป็นการรักษาโดยการดูแลสุขภาพตนเองอย่างง่าย ๆ ไม่ใช้ยา เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะน้ำจะช่วยให้เลือดไม่ข้นเกินไป จนเป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ส่งผลให้ไปหล่อเลี้ยงสมองได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยอาจทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเพื่อช่วยให้มีความสุขมากขึ้น

 

อัตราความเสี่ยงอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้น สู่ “ยากันลืม” หนทางป้องกันภาวะสมองเสื่อม

อัลไซเมอร์นับว่าเป็นชนิดของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเรียกว่าภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โดยในประเทศไทยมักพบภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป (11.4%) และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า (45.6%) เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป

ดังนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงได้ร่วมกับ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เขียนคู่มือ “ยากันลืม” ซึ่งเป็นคู่มือที่เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่ทุกครัวเรือนควรมีไว้เพื่อทำความรู้จักกับภาวะสมองเสื่อมให้มากขึ้นเพื่อเตรียมการป้องกันและใช้เป็นแนวทางดูแลบุคคลในครอบครัวให้ห่างไกลจากภาวะดังกล่าว โดยสามารถอ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hitap.net/documents/163303

 

โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมที่หลายคนมักจะนึกถึงอาการขี้หลงขี้ลืมของผู้สูงอายุ แท้จริงแล้ว โรคนี้มีอาการที่ซับซ้อนและรุนแรงมากกว่าที่คิด หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะรักษาให้หายขาด สมองจะค่อย ๆ เสื่อมจนไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ ดังนั้น ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ดูแล สังเกตร่างกายตัวเองและคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากรู้ตัวตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้นานยิ่งขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมา นอกจากนี้ การได้รับความรัก การเอาใจใส่จากคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุข

 

อ้างอิง

ยากันลืม: คู่มือป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

บทความเรื่อง อัลไซเมอร์ … เมื่อการขี้ลืมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ โดย โรงพยาบาลเวชธานี

บทความเรื่อง โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โดย ดอกเตอร์ รักษา

บทความเรื่อง โรคอัลไซเมอร์ โดย พบแพทย์

7 มิถุนายน 2565

Next post > เจาะลึก 3 เหตุผลหลักที่ควรยกเลิกการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิคัดกรองโควิด-19

< Previous post เจาะลึกโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ผ่านบทบาทการป้องกันและรักษา “เด็กเกิดใหม่น้อยลงจึงควรเป็นเด็กที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญแก่สังคม” รศ. นพ.นิธิวัชร์ วัฒนวิจารณ์

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ