logo
Download ดาวน์โหลด 389 ครั้ง
เข้าชม 1338 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยพบได้ประมาณ 34-40 รายต่อประชากรเพศหญิง 100,000 คน เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบอุบัติการณ์โรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ 37.8 ต่อหญิงไทย 100,000 คน นับเป็นจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 22,158 คน หรือร้อยละ 22.8 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งทั้งหมด จากการศึกษาในภาคเหนือของประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบอยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 34.5) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 40-49 ปี (ร้อยละ 29.7) และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 24.2) ตามลำดับ โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้หญิงไทยโดยพบว่า อัตราตายของโรคมะเร็งเต้านมคิดเป็น 12.7 ต่อ 100,000 ประชากร และเมื่อคิดเป็นการสูญเสียปีสุขภาวะจากการเสียชีวิติก่อนวัยอันควร โรคมะเร็งเต้านมทำให้มีการสูญเสียถึง 125,000 ปี โดยการพยากรณ์โรคของมะเร็งเต้านมขึ้นกับระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ จากผลของการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบที่ระยะของโรคแตกต่างกันมีพยากรณ์โรคหรืออัตราการรอดชีวิต ณ ปีที่ 5 แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ 1 มีอัตราการรอดชีวิต ณ ปีที่ 5 สูงถึงร้อยละ 94.4 แต่ลดลงเป็นร้อยละ 85.0 และ 56.6 ในผู้ที่ตรวจพบในระยะที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนผู้ที่ตรวจพบในระยะที่ 4 มีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ 28.3 ณ ปีที่ 5 หลังจากวินิจฉัยโรค เมื่อแบ่งระยะของมะเร็งเต้านมตาม American Joint Committee on Cancer (AJCC) พบว่าระยะของมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบในผู้หญิงไทยนั้น มีระยะที่ 1 เพียงร้อยละ 18 ในขณะที่พบระยะที่ 2 และ 3 ถึงร้อยละ 48 และ 26 ตามลำดับ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อให้พบมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มของโรคจึงมีความสำคัญในการลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านมและลดการสูญเสียดังกล่าว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการวิจัยได้ที่เอกสารด้านล่างนี้

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง