[Trainee BLOG] นักศึกษาเภสัชเข้ามาแล้วได้ทำอะไรบ้าง ?
เรื่องโดย นศภ.สิริกร สุจินพรัหม นักศึกษาฝึกงาน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เดิมทีเรามองว่า “เภสัชกร” คงทำงานจ่ายยาตามร้านยา ตามโรงพยาบาลหรือคุยกับคนไข้เท่านั้น กระทั่งคาบเรียนเกี่ยวกับการวิจัยยาและอย่างอื่นที่ไม่ใช่ยาก็เปิดประตูที่น่าค้นหาให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์คนนี้ได้รู้จักงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
เภสัชฯ เข้ามาทำอะไรที่นี่ ? เภสัชฯ เกี่ยวตรงไหน ?…ได้ใช้ความรู้หรือเรื่องที่เราเรียนมากับการทำงานที่นี่อย่างไร?…เป็นคำถามที่เราถามตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น และแน่นอนว่าการจะได้คำตอบ เราก็ต้องมาดู มาลงมือทำด้วยตัวเองเท่านั้น ก่อนอื่นอยากจะขอขอบคุณอาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งมาก ๆ เลยที่ได้แนะนำให้เราเลือกมาฝึกที่นี่ขอบคุณค่ะอาจารย์
นักศึกษาเภสัชศาสตร์ (นศภ.) เข้ามาแล้วได้ทำอะไรบ้าง…ต่อไปนี้คือคำตอบ
เข้าร่วมทีมวิจัยโครงการที่สนใจ
เมื่อเข้ามาพี่ ๆ เภสัชฯ ที่น่ารักจะให้เราดูและเลือกงานวิจัยที่เราสนใจมาเสนอ 2 งานวิจัย แน่นอนว่านศภ.ก็จะได้เคยเรียนวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับ Research & Methodology กับเรื่อง economic evaluation มีโมเดลอะไรเต็มไปหมด มีการวิเคราะห์ความไวของผลที่ได้ และหลาย ๆ อย่าง
ตอนเรียนเรารู้สึกว่ามันสนุกดี มีความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมด การจะได้มาซึ่งยา วิธีการวินิจฉัยหรือวิธีการรักษาโรค การนำนโยบายต่าง ๆ มาใช้ในประเทศต้องผ่านการวิจัยทั้งนั้น และงานวิจัยต้องเป็นงานวิจัยที่ทำมาอย่างถูกต้องด้วย ส่วนตัวรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราช่วยคนจำนวนมากได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้ไปเจอ ไปจ่ายยากับคนไข้โดยตรง
เราเลยเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราเคยเรียนคืองานวิจัยที่ทำ economic evaluation และอีกเรื่องที่เราสนใจเอง และเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ ก็ไม่พ้นเป็นเรื่อง “วัคซีนโควิด-19” นั่นเอง ผลสรุปคือเราได้ทำ “วัคซีนโควิด-19” เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่และพี่ที่ฝึกงานเห็นว่าเราควรทำเรื่องนี้เรื่องเดียวไปเลย แบบทำจริง ๆ และเราก็โอเค เห็นด้วย พี่บอกกับเราว่า “The best way to learn it, is to actually do it.” ต้อนรับเราเข้าสู่ทีมและให้เราได้ทำงานเองเต็มที่
ทบทวนวรรณกรรม – ลงพื้นที่เก็บข้อมูล – นำเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย
สิ่งที่ได้ทำมีหลายอย่างมาก ๆ มีตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรมทั้งแบบรวดเร็ว (rapid) และแบบเชิงระบบ (systematic) เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 ได้ใช้โปรแกรม stata ในการคำนวณข้อมูลทางสถิติ และออกแบบการนำเสนอให้เข้าใจง่าย เพื่อนำเสนอในการประชุม stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ขณะที่บางวันก็ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลโครงการ The Physical Activity at Work (PAW) หรือก็คือ งานวจัยเกี่ยวกับการเพิ่มกิจกรรมทางกายในที่ทำงานที่ช่วยพฤติกรรมเนือยนิ่ง ได้มีโอกาสเก็บข้อมูล พูดคุยกับผู้ร่วมวิจัยก็รู้สึกว่าสนุกดีค่ะ
บางวันได้ทำ tracking รายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติฯ เพื่อให้มีความง่ายในการติดตามมากขึ้น ว่าตอนนี้การพิจารณายาไปถึงขั้นตอนไหน อยู่ในการดำเนินการหรือพิจารณาของคณะกรรมการอะไร นอกจากนี้ยังได้หาข้อมูลเกี่ยวกับยาใหม่ ๆ ที่กำลังจะพิจารณาเข้าบัญชียาฯ จากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ
ขณะที่บางวันของที่นี่เป็นวันแห่งการเรียนรู้ เราได้เรียนโปรแกรม sql ที่เฉพาะทางมาก ๆ และในด้านของวิธีคิด เราก็ได้เรียนรู้วิธีการคิดใหม่จากอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ทาง HITAP เชิญมาเป็นวิทยากร ซึ่งช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน การคิดให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
และแน่นอนช่วงเวลาระหว่างการทำงานมากมายเหล่านี้ เราก็ได้เก็บเกี่ยวมิตรภาพมากมายระหว่างทางจากทั้งเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ที่น่ารักซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือกันดี และให้ความเป็นกันเองอยู่เสมอ
ร่วมประชุมพัฒนานโยบายสุขภาพ
ยังไม่หมดแค่นั้น…HITAP ยังมีส่วนร่วมในการเข้าประชุมบัญชียาหลักแห่งชาติฯ และการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ (the Universal Health Coverage Benefit Package of Thailand – UCBP) ด้วย เราจะได้ไปเข้าร่วมประชุม และได้รับฟังเกี่ยวกับการทบทวนยาในบัญชีฯ มีการนำเสนอยาใหม่ๆ และมาตรการทางสุขภาพ เข้ามาบรรจุในบัญชียาฯ หรือชุดสิทธิประโยชน์ด้วย มีการนำเสนองานวิจัย ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคณะทำงานฯ ต่าง ๆ และในการประชุมครั้งไหนที่มีการส่งประเด็นคำถามให้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ พวกเราจะนำหัวข้อนั้นมาศึกษาเพิ่มเติม และจัดทำเป็น “เอกสารประกอบการตัดสินใจ แนบท้ายการประชุม”
ในฐานะนศภ. ที่ได้ไปนั่งฟังประชุมและมองเข้าไปมีความเห็นว่า การประชุมมีการดำเนินไปอย่างชัดเจน ไปตามทีละวาระ ทำให้เราได้เห็นว่ายาในบัญชียาฯ แต่ละรายการมันไม่ได้มากันง่าย ๆ เราพยายามที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนไข้ คือต้องเป็นยาที่มีประสิทธิผล ปลอดภัยคือมีผลข้างเคียงที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีความคุ้มค่า ว่ากันไปตามหลักฐานข้อเท็จจริงเท่านั้น และแน่นอนว่าภาระงบประมาณของประเทศไทยต้องสามารถรับได้ด้วย
ตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจและได้นำมาศึกษาคือการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบงบประมาณของยา anaplastic lymphoma kinase (ALK) inhibitors ทุกรายการ (alectinib, brigatinib, ceritinib) ในข้อบ่งใช้ advanced Non small cell lung cancer (NSCLC) with ALK+ rearrangement ซึ่งการดูว่ายาในกลุ่ม ALK inhibitors ช่วยรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กได้คุ้มค่าหรือไม่ และใช้งบอย่างไร โดยก่อนอื่นเลยเราต้องหาการศึกษา efficacy ของยา โดยจะต้องเป็นการศึกษาที่มีข้อบ่งใช้ ลักษณะประชากร ตัวยาหรือวิธีการรักษาเปรียบเทียบ และผลลัพธ์ ในที่นี้คือ Progression free survival (PFS) คือระยะเวลาที่ไม่มีการดำเนินไปของโรค ตรงกับที่จะเข้ามาบรรจุในบัญชียาฯ เท่านั้น จากนั้น review การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายจึงทำ budget impact analysis คร่าว ๆ คือหาค่ายา จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในไทยและวิเคราะห์ผลกระทบงบประมาณที่เกิดขึ้น
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพี่ ๆ ที่ฝึกงานทุกคน ประสบการณ์ฝึกงานครั้งนี้เราได้ทั้งเพื่อนใหม่ เจอผู้คนที่หลากหลาย ได้แนวคิดวิธีการทำงานที่มีประโยชน์ พี่ ๆ เป็นกันเองและช่วยเหลือกัน สิ่งที่ประทับใจมากอีกอย่างหนึ่งคือเวลาเราทำงานเสร็จและได้มานำเสนอร่วมกัน พี่ ๆ จะถามเราและทุกคนต่อเสมอว่า “แล้วเราคิดว่ายังไง มีความเห็นยังไง” ซึ่งสำหรับเราคิดว่าการได้ discuss ร่วมกัน ได้คุยประเด็นต่างๆ ทำให้งานที่ได้ออกมาอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาก ๆ