ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP เปิดเวทีพูดคุยในหัวข้อ “วิจัย – นโยบาย – เศรษฐกิจ” จัดการวัคซีนอย่างไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคมต่อนโยบายวัคซีนโควิด-19 งานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนรวมถึงเศรษฐกิจหลังการมาถึงของวัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวอย่างไร
เมื่อวันที่ 29 มกราคม โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้จัดงานทอล์ก “วิจัย – นโยบาย – เศรษฐกิจ” จัดการวัคซีนอย่างไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส เป็นผู้ชวนพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมผ่านความรู้จากผู้เชี่ยวชาญประกอบไปด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ผู้ดูแลการให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และกรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน องค์การอนามัยโลก (WHO) และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย
นพ.โสภณ เมฆธน
จัดการวัคซีนต้องยึดหลักการและชั่งน้ำหนักประโยชน์กับความเสี่ยงให้เหมาะสม
วัคซีนกำลังจะมาถึง ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายติดตามคือจะมีการจัดการวัคซีนอย่างไร นพ.โสภณ ในฐานะคนทำงานด้านนโยบายจัดการวัคซีนได้ให้คำตอบไว้ว่า การจัดการวัคซีนจะพิจารณาตามข้อมูลทางวิชาการ และประสบการณ์จากประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ การจัดการตั้งแต่การเลือกวัคซีน การเลือกกลุ่มที่จะให้วัคซีนจนถึงการติดตามผลข้างเคียงจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“การจัดการวัคซีนเราทำตามหลักวิชาการ และตามประสบการณ์จากประเทศอื่น ๆ ตอนนี้นโยบายที่รับมอบมาจากรัฐบาลมีหลักการคือ 1 ความปลอดภัย 2 ประสิทธิภาพ 3 ความรวดเร็วและ 4 ความเป็นธรรม หลักเหล่านี้คือสิ่งสำคัญ”
“กลุ่มเป้าหมายแรก ๆ ที่จะได้รับวัคซีนคือบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ด่านหน้าเพราะคนกลุ่มนี้ต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย ส่วนกลุ่มที่ 2 คือพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ตอนนี้คือสมุทรสาครกับเมืองที่อยู่รอบ ๆ สำหรับกลุ่มคนทั่วไป ผลการศึกษาวิจัยวัคซีนตอนนี้คือวัคซีนมีคุณสมบัติลดความรุนแรงของโรคจึงจะให้วัคซีนกับกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง คนอ้วนและผู้สูงอายุที่หากเกิดการระบาดอาจเสียชีวิตได้”
อย่างไรก็ตาม ในด้านกระบวนการจัดการวัคซีนอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลเชิงวิชาการที่เพิ่มขึ้น นพ.โสภณ เผยว่านักวิชาการมองการใช้ประโยชน์จากวัคซีนเป็นได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับข้อมูลว่าวัคซีนให้ผลแบบไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ชัด คือ 1 ใช้ฉีดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค 2 คือใช้ลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากผลการศึกษายังพบเพียงว่าวัคซีนลดความรุนแรงของโรค จึงควรฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่ป่วยแล้วจะมีอาการหนักคือกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
“ฉะนั้นต้องมองหลายส่วน หากสมมติวันนี้วัคซีนมาแล้วพุ่งไปที่สมุทรสาครหมดอาจจะไม่ดี ดังนั้นจึงต้องมีความพอดี”
ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์
ข้อมูลวัคซีนทั่วโลกตอนนี้ยังไม่ตอบสิ่งที่สังคมคาดหวัง
ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มีมากมาย มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน ดร. นพ.ยศ ในฐานะนักวิจัยเผยว่า หลายฝ่ายยังคงต้องเร่งสร้างความเข้าใจข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนให้กับสังคม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองเพื่อให้มีพฤติกรรมและนโยบายที่สอดรับกัน ถึงตอนนี้ข้อมูลของวัคซีนมีเพียงประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลด้านการป้องกันการติดเชื้อรวมถึงระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครองซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก
“ข้อมูลงานวิจัยวัคซีนทั่วโลกถึงตอนนี้ (29 มกราคม 2564) ยังไม่ได้ตอบสิ่งที่สังคมคาดหวัง เราคาดหวังวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ แต่เนื่องจากวิธีการวิจัยแบบนี้ต้องใช้ทั้งเวลานานและกลุ่มตัวอย่างปริมาณมาก บริษัทวัคซีนอยากจะให้วัคซีนออกสู่ท้องตลาดเร็ว ฉะนั้นวิธีการที่ง่ายกว่าคือคอยติดตามคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ฉะนั้นข้อมูลตอนนี้จึงมีเพียงวัคซีนลดความรุนแรงของโรค ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าลดการติดเชื้อหรือไม่ และมีระยะยาวนานเท่าไหร่”
ทั้งนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนที่คลาดเคลื่อนทำให้เริ่มมีแนวคิดนโยบายเกี่ยวกับวัคซีนออกมา ดร. นพ.ยศ กังวลถึงผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดการระบาดอีกระลอกได้
“ผมเห็นแนวคิดนโยบาย vaccine passport ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ฟังแบบนี้แล้วความกังวลใจในฐานะนักวิชาการคือ เรายังไม่ได้คุยกันอย่างชัดเจนเพียงพอในระหว่างกระทรวง และระหว่างนักวิชาการกับผู้บริหาร เพราะกระทรวงสาธารณสุขเรายังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กลับมีนโยบายซึ่งแปลว่าเขามั่นใจว่าวัคซีนป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อได้ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วคงไม่นำเชื้อเข้ามาในประเทศ แต่ถ้าวัคซีนมีแค่ลดความรุนแรงของโรค มันจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้”
ขณะที่ทางด้านของ ดร.เกียรติอนันต์ ให้ความเห็นด้านเศรษฐกิจว่า ความเข้าใจผิดต่อคุณสมบัติของวัคซีนอาจนำมาซึ่งการระบาดอีกรอบซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และทรัพยากรที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาความเสียหายอีกแล้ว
“ความเข้าใจผิดเรื่องวัคซีนในทางเศรษฐศาสตร์สิ่งที่ผมกังวลก็คือมันจะเกิด moral hazard (ภาวะภัยทางศีลธรรม) เหมือนคนซื้อประกันชั้นหนึ่ง จะขับรถยังไงก็ได้ ชนใครก็ได้ ฉะนั้นความเข้าใจวัคซีนผิดจะนำไปสู่นโยบายที่ผิด และนำมาสู่การระบาดระลอกต่อไป ทีนี้ทรัพยากรของเราที่มีในการรองรับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่พอ ฉะนั้นจุดเริ่มตรงนี้ต้องทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจเข้าใจสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำงานอยู่ว่า หากวัคซีนตอนนี้ลดอาการป่วยเท่านั้น ยังไม่การันตีเรื่องการระบาด นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่ต้องพึ่งกำลังบริโภคจากข้างนอกก็ต้องมาหลังจากที่เราพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนป้องกันได้จริง”
คุณสมบัติใดของวัคซีนที่ให้ประโยชน์ที่สุด ไทยจะใช้วัคซีนมากกว่า 1 ยี่ห้อหรือไม่?
คุณสมบัติสำคัญของวัคซีนคือการป้องกันการติดเชื้อ ดร. นพ.ยศ เผยผลจากการวิจัยประเมินวัคซีนโควิด-19 พบว่า แม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อเพียงเล็กน้อย ก็จะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อฉีดให้กับกลุ่มคนที่ติดเชื้อสูง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มคนวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ติดเชื้อกันมากที่สุดในประเทศไทย
“ผมเชื่อว่าคนไทยเรามีหลายความต้องการ วัคซีนตัวเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกกลุ่ม เช่น ถ้าสมมติว่าวัคซีนของบริษัทที่เราสั่งไว้ไม่มีข้อมูลในการป้องกันการติดเชื้อ แต่มีข้อมูลในการลดความรุนแรงของโรค ก็ฉีดให้คนที่จะป่วยหนักถ้าติดเชื้อ ส่วนถ้ามีวัคซีนใหม่ที่เรายังไม่ได้สั่งแล้วมีข้อมูลชัดเจนว่าลดการติดเชื้อ เราก็อาจจะสั่งเพิ่มเข้ามาฉีดในกลุ่มอื่นได้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะติดตามอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้”
ดร. นพ.ยศ คาดว่าเมื่อเวลาผ่านไป วัคซีนที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะถูกปล่อยออกมาจนล้นตลาด และเวลานั้นอำนาจจะมาอยู่ในมือผู้ซื้อ
“วัคซีนต้นปีนี้จะมีไม่พอตามความต้องการ แต่พอถึงปลายปีสิ่งที่เกิดจะกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะวัคซีนจะล้นตลาด และปีหน้าก็จะเกินความต้องการ เพราะเราพบว่าเพียงกำลังผลิตของ 3 บริษัทคือไฟเซอร์ โมเดอร์นาและแอสตราเซเนกาก็สามารถผลิตวัคซีนสำหรับ 6,000 ล้านคนซึ่งพอดีกับคนทั่วโลกในปีนี้ปีเดียว แต่ตอนนี้มีวัคซีนในท้องตลาดอื่น ๆ ทั้งของซิโนแวค ของอินเดียและของรัสเซีย ซึ่งถ้าเรามี 4 – 5 ตัวนี้ เราจะมีวัคซีนเกินความต้องการของคนทั้งโลก ตอนนั้นตลาดจึงจะเป็นของผู้ซื้อ”
การจัดการวัคซีนท่ามกลางข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งด้านคุณสมบัติของวัคซีน ความปลอดภัยและปริมาณวัคซีนในท้องตลาด นพ.โสภณ เผยว่า การจัดการวัคซีนต้องชั่งน้ำหนักทุกอย่างเสมอ
“เราต้องมาชั่งน้ำหนัก ทุกอย่างมีความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้รับ เราต้องคิดให้ดี สมมติวันนี้เราใส่หน้ากาก ล้างมืออะไรต่าง ๆ เหมือนรอบแรก เราก็ติดเชื้อไม่เยอะเหมือนเรามีเสื้อเกราะข้างนอกอยู่แล้ว วัคซีนเหมือนเกราะข้างในอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเกราะข้างนอกดีแล้ว เรารอดูเกราะข้างใน ฉีดแล้วไม่มีใครตายแน่ ผมว่าไม่เร็วหรือช้าแต่คือเวลาที่เหมาะสม ถ้าเกิดข้อมูลความปลอดภัยโอเค เราก็ลุยเต็มที่”
ความเสี่ยงที่คนอาจไม่กล้ารับวัคซีน
ปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นแม้จะมีวัคซีนคือผู้คนไม่มารับวัคซีน นพ.โสภณ มองถึงทางแก้ปัญหาไว้ที่การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับอย่างแท้จริงและพิจารณาด้วยตัวเอง
“ประชาชนชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจไม่รับวัคซีนถือเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจถึงประโยชน์ว่าคืออะไร ขณะเดียวกันก็รู้ว่ามีความเสี่ยง แต่เราลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือเราต้องดูคนอื่น เช่น ด้านแรกสาธารณสุข คุณหมอฉีดมั้ย ถ้าประชาชนเห็นหมอยังรับวัคซีนก็อาจจะพิจารณามากขึ้น เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องปกติเพียงแค่ทำยังไงที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุดเท่านั้น”
ทางด้าน ดร. นพ.ยศ มองว่าการตัดสินใจรับวัคซีนของแต่ละคนขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม เพราะทุกคนยังคงมองว่าวัคซีนคือทางออก เพียงรอเวลาเหมาะสมที่ข้อกังวลใจจะถูกคลี่คลายซึ่งนโยบายที่ดีจะช่วยได้
“ผมมั่นใจว่าลึก ๆ แล้วทุกคนเห็นว่าวัคซีนคือทางออก คำถามคงไม่ใช่จะใช้หรือไม่ใช้วัคซีน แต่คือใช้เมื่อไหร่ ผมเชื่อว่านโยบายที่ดีจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือข้อกังวลใจของประชาชนได้ ผมมั่นใจว่าภาครัฐ ทีมทำงานจะใช้ข้อมูลวิชาการที่อยู่บนหลักฐานที่ดีดำเนินนโยบายที่ทำให้ทุกคนเข้าใจ”
ทั้งนี้ หลังวัคซีนมาถึง ดร. นพ.ยศ มองว่าสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือกรณีการเสียชีวิตซึ่งอาจไม่ได้มาจากวัคซีน สาเหตุที่แท้จริงจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาศึกษา ทว่าข่าวสารที่ออกไปอาจสร้างความตื่นตระหนกและทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ ทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องมีส่วนในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าใจร่วมกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนรวมถึงโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
“กรณีฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมาก ๆ แล้วเกิดเสียชีวิต คนอาจตีความว่าเสียชีวิตเพราะวัคซีนได้ ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องสื่อสารให้ดีกับสังคมคือต้องให้มีความมั่นใจ และให้มีการพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการฉีดวัคซีนจริง ๆ ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันปัญหานี้ก็คือ ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนในประเทศไทยแล้วมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น อย่าพึ่งไปแชร์ส่งต่อกัน มันอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี”
“ผมอยากจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องติดตามข้อมูล พยายามตรวจสอบ ฟังหลายด้าน อย่ารีบร้อนที่จะเชื่อและแชร์ เพราะถึงแม้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องอาจเป็นข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก อายุของความถูกต้องอาจจะสั้น อีกส่วนผมเห็นว่าเป็นหน้าที่ของทางรัฐบาล ซึ่งเข้าใจว่าตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการด้านการสื่อสารแล้ว คือต้องสื่อสารให้เยอะและทันเวลา”
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
วัคซีนสุขภาพคือวัคซีนเศรษฐกิจ แต่ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว
การมาถึงของวัคซีนคือความหวังที่หลายฝ่ายอยากให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าการมาถึงของวัคซีนสุขภาพก็มีส่วนที่เป็นวัคซีนทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัว แต่ผลกระทบที่รุนแรงอาจต้องใช้เวลายาวนานถึงจะกลับมาเป็นอย่างเดิมได้
“โควิด-19 นอกจากกระทบเรื่องสุขภาพแล้วมันยังเป็นไวรัสที่กระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะมันกระทบต่อกำลังซื้อ โควิด-19 ทำให้ผู้คนกลัว ระบาดระลอกใหม่คนก็กลัวอีก หากวัคซีนเข้ามาตัดวงจรเหล่านั้นได้ อย่างแรกที่เกิดขึ้นคือความเชื่อมั่นของประชาชนจะทำให้คนกล้าใช้จ่าย กล้าท่องเที่ยว แล้วมันจะมีผลต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐเป็นอย่างมาก”
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลังวัคซีนมาถึงและต่อจากนั้น ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าจากช่วงที่โควิด-19 เข้ามาทดสอบรากฐานทางเศรษฐกิจของไทยจึงควรเปลี่ยนวิธีคิดทางเศรษฐกิจจากมุ่งเน้นด้านความสามารถในการแข่งขันสู่ความสามารถในการเอาตัวรอด
“โควิด-19 เข้ามาคัดกรองความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยว่ารากฐานที่แท้จริงของเรามีแค่บางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น และมันเตือนเราด้วยว่าระบบเศรษฐกิจที่เดินไปข้างหน้าเป็นเส้นตรงมีปัญหาได้ ไม่มีใครเชื่อวันหนึ่งความต้องการซื้อจะเป็น 0 ฉะนั้นโลกข้างหน้ากำลังจะบอกว่าความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศไม่สำคัญเท่าความสามารถในการอยู่รอด ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โจทย์คือการอยู่รอดในภาวะที่พายุทางเศรษฐกิจและสุขภาพพัดมาพร้อมกัน ซึ่งไม่เคยเกิดหนักขนาดนี้มาก่อน ฉะนั้นจะทำยังไงที่จะประคองให้ประเทศรอดไปได้โดยที่จีดีพีไม่ต้องโตเยอะ แต่ทำยังไงให้ผู้คนปลอดภัยก่อน ฟื้นก่อน เราจะวิ่งได้ก่อน”
จุดได้เปรียบหนึ่งของประเทศไทยจากการเผชิญกับโควิด-19 ที่ผ่านมา ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าคือความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขที่ติดลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งช่วยวางรากฐานสำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคทั่วโลก
“เรามีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โควิด-19 เป็นตัวบอกว่า เราเก่งเรื่องนี้ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มันคล้ายกับ medical hub แต่เป็นด้านสุขภาวะซึ่งจะครอบคลุมมากกว่า นี่คือสิ่งสำคัญ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกหลังโควิด-19 ทุกคนมองเรื่องสุขภาพเป็นอันดับ 1 ถ้าเราวางตำแหน่งตัวเอง เตรียมตัว เอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้มาช่วยไปถึงจุดนั้น อีก 3 ปีในขณะที่คนอื่นกำลังเอาตัวรอด เราจะมีอาวุธลับที่ซ่อนอยู่และจะเติบโตผ่านเรื่องนี้ไปได้”
ความร่วมมือระหว่างประเทศยังสำคัญ
การแพร่ระบาดเข้ามาจากนอกประเทศแสดงให้เห็นว่าการรับมือโควิด-19 ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้วย นพ.โสภณ เผยว่า ถึงตอนนี้หากมีการขอความร่วมมือก็จะมีการส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือเต็มที่
“เราคิดแบบสาธารณสุข ก็ต้องให้เกียรติแต่ละประเทศ เราคุยกับองค์การอนามัยโลกว่าภูมิภาคนี้ต้องการอะไร เราก็ช่วยเขา หากขอให้เราไปช่วยเราก็จัดทีมไป แต่ถ้าเขาไม่ขอมา เราเข้าไปมันก็จะเกิดปัญหาได้เหมือนกัน”
ทางด้านดร. นพ.ยศ เผยว่ามีความร่วมมือระดับภูมิภาคเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง
“ความชัดเจนแล้วระดับหนึ่งในอาเซียนที่มีการคุยกันเมื่อปีที่แล้วคือ ชาติอาเชียนประกอบไปด้วย 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกับรัฐบาลญี่ปุ่น กำลังจะมีแผนในการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคที่จะใช้ในการควบคุมโรคติดต่อ ตรงนี้คิดว่าน่าจะเป็นความร่วมมือที่ดี เพราะว่าถ้าดูดี ๆ แค่ปีนี้ก็มีหลายเรื่องที่ต้องคุยกัน เช่น ถ้าเราจะฉีดวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติในไทย คือพม่า ลาวและกัมพูชา แรงงานเราที่ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกันทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ เขาจะฉีดให้เรามั้ย ก็หวังว่าจะมีการฉีดให้กัน”
ขณะที่ในมุมเศรษฐกิจ ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าความร่วมมือด้านสุขภาพ อาจไม่นำมาซึ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงต้องหาทางเอาตัวรอดโดยมีเป้าหมายร่วมกันให้ได้
“มันมีความหวังและความน่ากลัวเกิดขึ้นพร้อมกัน ความหวังคือเรารู้แล้วว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน แต่ในด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มาตรการแรกที่จะถูกนำมาใช้คือการกีดกันทางการค้าเพื่อไม่ให้เงินไหลออกจากประเทศ กลายเป็นว่าความร่วมมือด้านสุขภาพอาจไม่นำมาซึ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจะต้องจัดการคือเราจะอยู่ยังไงในโลกที่วัคซีนด้านสุขภาพมาแล้ว แต่วัคซีนด้านเศรษฐกิจยังไม่ดีพอ ขณะที่การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เราจะทำยังไงให้คนเข้าใจว่าระหว่างนี้เราจะใช้วัคซีนทางสังคม ทางกฎหมายมาคุ้มครอง มันเป็นโจทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขทำคนเดียวไม่ได้ คนอื่นต้องเข้าใจในมุมวิทยาศาสตร์ด้วย ขณะเดียวกันต้องวางสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันแล้ววางเป้าหมายร่วมกัน ผลถึงจะออกมาดีได้”
ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญ จากข้อมูลการศึกษาวิจัยสู่การกำหนดนโยบายกระทบถึงเศรษฐกิจ หากสังคมมีความเข้าใจร่วมกันที่ถูก คาดหวังกับวัคซีนตามข้อเท็จจริงที่วัคซีนสามารถให้ประโยชน์ได้ สังคมไทยก็จะสามารถตัดสินใจเรื่องวัคซีนและการใช้ชีวิตหลังวัคซีนมาถึงได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในท้ายที่สุด
4 กุมภาพันธ์ 2564