logo
Download ดาวน์โหลด 569 ครั้ง
เข้าชม 1283 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณของยาในข้อบ่งใช้ relapsing-remitting multiple sclerosis (RRMS)

วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์โดยใช้แบบจำลอง Markov ในการวิเคราะห์อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio: ICER) เปรียบเทียบระหว่างการดูแลรักษาตามปกติและการให้ยากลุ่ม Disease Modifying Therapy หรือ DMT ในผู้ป่วย RRMS และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณกรณีที่มีแนวทางการรักษาด้วยยากลุ่ม DMT โดยข้อมูลด้านประสิทธิผลของยาได้จากการวิเคราะห์อภิมานเครือข่ายจากการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) ข้อมูลด้านโอกาสการเปลี่ยนแปลงสถานะสุขภาพได้จากการวิเคราะห์อัตรารอดชีพ (survival analysis) จากข้อมูลผู้ป่วย 120 คน จากโรงพยาบาล 5 แห่ง ข้อมูลด้านต้นทุนการรักษาพยาบาลได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากฐานข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ข้อมูลด้านต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์และค่าอรรถประโยชน์ได้จากการศึกษาในบริบทของไทย

ผลการศึกษา การเปรียบเทียบแนวทางการรักษาผู้ป่วยเอ็มเอส 11 ทางเลือก พบว่า ต้นทุนตลอดชีพของการรักษาแบบทางเลือกที่ 11 (TERI – NATA – ALEM) มีต้นทุนตลอดชีพสูงที่สุด และการดูแลรักษาตามปกติ มีต้นทุนน้อยที่สุด แต่ปีสุขภาวะตลอดชีพของการรักษาแบบทางเลือกที่ 6 (IFN – NATA – ALEM) มีปีสุขภาวะตลอดชีพสูงที่สุด และการดูแลรักษาตามปกติมีปีสุขภาวะตลอดชีพน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์พิจารณาความคุ้มค่าที่ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ ไม่มีแนวทางการรักษาแบบใดที่มีความคุ้มค่าทั้งในมุมมองทางสังคมและมุมมองผู้ให้บริการ หากเปรียบเทียบระหว่างแนวทางการรักษาพบว่า การรักษาแบบทางเลือกที่ 6 (IFN – NATA – ALEM) มีความคุ้มค่ามากกว่าแนวทางการรักษาอื่น ๆ โดยมีค่าอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มอยู่ที่ 6.9 ล้านบาทต่อปีสุขภาวะ ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมงบประมาณทั้งสิ้น 226 ถึง 251 ล้านบาทต่อปี หากต้องการบรรจุยา IFN หรือ การรักษาแบบทางเลือกที่ 6 (IFN – NATA – ALEM) เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

สรุปผลการศึกษา การรักษาผู้ป่วยเอ็มเอสด้วยยากลุ่ม DMT ยังไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลรักษาตามปกติ การรักษาแบบทางเลือกที่ 6 (IFN – NATA – ALEM) เป็นแนวทางการรักษาที่มีต้นทุนอรรถประโยชน์ต่ำที่สุด (6.9 ล้านบาทต่อปีสุขภาวะ) ดังนั้น ภาครัฐควรมีการต่อรองราคายา DMT เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยโรคเอ็มเอส โดยเฉพาะยา interferon beta-1a ซึ่งเป็นยาทางเลือกแรก โดยควรต่อรองราคายาเหลือเข็มละ 550 บาท (ลดราคายาลงร้อยละ 70)