“มะเร็งตับ” ภัยเงียบใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้
ครั้งแรกที่คุณรู้ตัวว่าป่วยอาจเกิดจากการหกล้มกระดูกหัก เมื่อเข้ารักษาจึงพบว่าโรคดังกล่าวเดินมาถึงภาวะวิกฤติเสียแล้ว โรคที่ว่านี้ก็คือ “มะเร็งตับ” ภัยเงียบที่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อลุกลามไปมากแล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? เราจะหาทางหลีกเลี่ยงป้องกันภัยเงียบนี้ได้อย่างไรบ้าง ?
สาเหตุของมะเร็งตับมือะไรบ้าง
มะเร็งตับถือเป็นภัยสุขภาพที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ โดยเป็นมะเร็งที่พบมากในชายไทยเป็นอันดับ 1 และพบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 3 ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ มีด้วยกัน 2 ปัจจัยคือ 1. ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อที่ไม่แสดงอาการ และ 2. การดื่มสุราเป็นประจำ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การกินของดิบที่ทำให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับได้ และภาวะไขมันพอกตับซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้มะเร็งตับเป็นภัยเงียบก็คืออาการของโรคที่กว่าจะแสดงออกมาก็ลุกลามไปมากแล้ว เพราะตับเป็นอวัยวะที่สามารถทำงานทดแทนกันได้แม้จะเสียหายไปเกินครึ่งนึงแล้วก็ตาม มีบางกรณีที่มะเร็งลุกลามจากตับไปยังกระดูกถึงจะแสดงอาการออกมาเป็นอาการกระดูกหัก
แล้วทำอย่างไรถึงจะป้องกันภัยเงียบนี้ได้ ?
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้อย่างไร ?
การจะป้องกันโรคมะเร็งตับจำเป็นจะต้องจัดการกับสาเหตุข้างต้น ด้วยการลดความเสี่ยงลงดังนี้
1. ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นโรคติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เกิดจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยพบว่าในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้นครึ่งหนึ่งจะพัฒนาไปสู่มะเร็งตับ อีกครึ่งตับจะเสียหายจนมีภาวะตับแข็ง ทั้งนี้ หากคุณพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถรับการตรวจได้ฟรี โดยการตรวจไวรัสตับอักเสบบีจะฟรีในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีจะตรวจฟรีในกลุ่มที่มีประวัติเคยติดยาเสพติด และกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี
แต่หากคุณเกิดก่อนปี 2535 ก่อนที่จะมีการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน คุณอาจพิจารณาเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหากตรวจพบเชื้อ
แม้ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจะมีราคาสูง แต่ปัจจุบันได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ฟรี
2 ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มสุราส่งผลกระทบมากมายต่อสังคมรวมถึงสุขภาพของคุณ นอกจากมะเร็งตับแล้วการดื่มสุรายังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกมากมายตั้งแต่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน ไขมันพอกตับ ดังนั้นจึงควรงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ คุณสามารถสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของตนเองได้ด้วยตอบคำถามง่าย ๆ ตามลิงค์นี้ https://www.hitap.net/174772 ซึ่งแบบทดสอบดังกล่าวจะช่วยประเมินพฤติกรรมการดื่มของคุณ หากพบว่าคุณมีความเสี่ยงในการติดสุราร้ายแรง คุณจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกเหล้าอย่างจริงจัง เพราะอาการติดสุราเรื้อรังนั้นถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง
สามารถติดตามอ่านข้อแนะนำการตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ “เช็คระยะสุขภาพ: ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” คลิก https://www.hitap.net/documents/18970 และรายละเอียดของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับยารักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ที่ “จุลสารปีที่ 10 ฉบับที่ 31 กันยายน – ธันวาคม 2560 : ถึงเวลาเอาจริงกับไวรัสตับอักเสบซี” คลิก https://www.hitap.net/documents/172853
อ้างอิง
https://www.hfocus.org/content/2019/08/17456
- การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง
- การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบงบประมาณของการใช้ยา peginterferon และ ribavirin ในข้อบ่งใช้สำหรับ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย (HIV/HCV co-infection)
- การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบด้านงบประมาณของการใช้ยา peginterferon และ ribavirin ในข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังชนิด สายพันธุ์ 1
- การประเมินต้นทุนประสิทธิผลการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดซี
- การประเมินต้นทุนประสิทธิผลการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบี
- แนวทางการคัดกรองตรวจวินิจฉัยและรักษาเพื่อการกำจัดโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังในยุคยาต้านไวรัส DAAs เป้าหมายโลกหรือเป้าหมายไทยที่เหมาะสม – การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณโดยแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สาธรณสุข
- การพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย : กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การประเมินต้นทุนทางสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย
- โครงการศึกษาทบทวนการดำเนินการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540-2550 และบทบาทของ สสส.