logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
รับยาร้านยา ตัวช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล?

 

โรงพยาบาลแออัดแค่ไหนแล้ว?

ในปี พ.ศ. 2560 จำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ อยู่ที่ 220,063,238 ครั้ง/ปี ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี โดยที่จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐมีอย่างน้อย 1,200 คน ต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยรอใช้บริการแน่นขนัดในทุกวัน และไม่ว่าผู้ป่วยจะมีปัญหาสุขภาพรุนแรงแค่ไหนก็ต้องรอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ แถมความแออัดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่จริงแล้ว ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล มีแค่ประมาณ 2 ใน 5 เท่านั้นที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องมาจริง ๆ[1] ที่เหลือเป็นอาการที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือสามารถรับบริการในศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพเบื้องต้นได้ และใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่า นโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มต้นขึ้น

 

โครงการนำร่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2562 มองเห็นถึงความสำคัญและความสามารถของเภสัชกรในพื้นที่ เพราะนอกจากจะทำหน้าที่จ่ายยาแล้ว ปัจจุบัน พวกเขาสามารถแนะนำการใช้ยาและตอบข้อซักถามของผู้ใช้ยาได้อย่างดีด้วย นอกจากนั้น ร้านขายยาในแต่ละจังหวัดก็มีการกระจายครอบคลุมพื้นที่มากกว่าหน่วยงานของรัฐฯ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการทางเภสัชกรรมได้สะดวกขึ้น

 

จะเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ได้อย่างไร?

โครงการนี้เริ่มต้นกับผู้ป่วยที่อยู่ใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และโรคหืด เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐฯ ที่ร่วมโครงการ ผู้ป่วยสามารถเลือกรอรับยาที่โรงพยาบาลหรือนำใบสั่งยามายื่นรับยา ณ ร้านขายยาที่ผ่านมาตรฐานของ อย. ก็ได้ ขณะนี้มีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง และเครือข่ายร้านขายยาคุณภาพกว่า 750 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานเหมือนเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าโครงการนำร่องนี้ รวมถึงจะมีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้อย่างไร ทางทีมวิจัย HITAP จึงได้มีการดำเนินงานวิจัยประเมินผลโครงการนำร่องนี้ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอดในอนาคต โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงนักวิจัยกรมการแพทย์ มาร่วมดำเนินการวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินการด้วย

[1] รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560

16 มีนาคม 2563

Next post > ให้ภาพเล่าเรื่อง : เด็กอ้วน น่ารักหรือน่าห่วง

< Previous post Guest blog : การประชุม Vaccinology course โดยความร่วมมือระหว่าง HITAP THSTI JIPMER LSHTM และ NUS ณ เมืองฟารีดาบัด ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2562

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ