logo

รหัสโครงการ

211-372-2555(1)

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นพ.ธนภัทร รัตนภากร

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 10736 คน

วันที่เผยแพร่ 10 ธันวาคม 2554 17:55

เกี่ยวกับโครงการ

โรคจุดภาพชัดของจอตา (Macular diseases) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคทางจักษุวิทยาที่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นตรงกลาง (Central vision) ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ช้าเกินไปอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรถึงขั้นตาบอดได้ เช่น โรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อมจากเหตุสูงวัยชนิดที่มีหลอดเลือดงอกผิดปกติ (Neovascular age-related macular degeneration, neovascular AMD) ซึ่งในต่างประเทศมีความชุกประมาณ 0.3%ของประชากร สำหรับในประเทศไทยพบมีความชุกของโรคจุดภาพชัดจอตาเสื่อมจากเหตุสูงวัยในระยะท้าย(Late AMD) 0.3%(~39,000 คน) และในผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดเป็นชนิด Neovascular AMD 74.1% นอกจากนั้นยังมีโรคหลอดเลือดจอตา (Retinal vascular diseases) ที่อาจทำให้จุดภาพชัดบวมน้ำ (Macular edema) อันจะทำให้การมองเห็นลดลงเป็นอย่างมาก เช่น จุดภาพชัดบวมน้ำจากโรคเบาหวาน (Diabetic macular edema, DME) และจุดภาพชัดบวมน้ำจากหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน (Retinal vein occlusion, RVO) เป็นต้น โดย DME ทั่วโลกมีความชุก 7.48% ของผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนในไทยพบความชุกของ DME 2-3% ของผู้ป่วยเบาหวาน (~110,250 คน) สำหรับความชุกของ RVO ในประเทศไทยยังไม่มีรายงาน การรักษาโรคจุดภาพชัดของจอตาหรือโรคที่มีผลต่อการบวมน้ำของจุดภาพชัดโดยการใช้ยาในปัจจุบัน คือ ยาในกลุ่ม Monoclonal antibody ที่ยับยั้งการสร้าง Vascular Endothelial Growth Factor (VEGF) ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในกระบวนการสร้างหลอดเลือดงอกใหม่ (Neovascularization) ในรูปแบบการฉีดยาเข้าวุ้นตา (Intravitreal injection) โดย Ranibizumab (Lucentis®) เป็นยาในกลุ่มที่ยับยั้งการสร้าง VEGF (Anti-VEGF) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรค Neovascular AMD และจุดภาพชัดบวมน้ำจากหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยามีราคาที่สูงมากและผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับยาหลายครั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัว อย่างไรก็ตาม Bevacizumab (Avastin®) เป็นยาในกลุ่ม Anti-VEGF อีกตัวหนึ่งซึ่งปัจจุบันนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบการฉีดเข้าหลอดเลือด (Intravenous route) โดยยานี้มีผลทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งตีบและฝ่อหายไป ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายลงจากการขาดเลือดไปเลี้ยง มีรายงานการใช้ยานี้เป็นครั้งแรกในทางจักษุวิทยาเมื่อ ปี พ.ศ.2547 ในรูปแบบการฉีดยาเข้าวุ้นตา เพื่อใช้รักษา Neovascular AMD พบว่าสามารถลดการบวมของชุดภาพชัดและทำให้ระดับสายตาดีขึ้นได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้มีรายงานการใช้ยานี้ออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก ส่งผลให้มีการใช้ยา Bevacizumab อย่างแพร่หลาย ซึ่งการใช้ยา Bevacizumab สำหรับกลุ่มโรคจุดภาพชัดของจอตานี้จำเป็นต้องมีการแบ่งบรรจุและเตรียมยาเพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถฉีดเข้าวุ้นตาได้ โดยราคายาเมื่อแบ่งบรรจุแล้วถูกกว่าการใช้ยา Ranibizumab เป็นอย่างมาก (ราคา Ranibizumab ประมาณ 40 เท่าของ Bevacizumab) แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาดังกล่าวในทางจักษุวิทยายังเป็นการใช้นอกข้อบ่งชี้ (Off-label use) ในปัจจุบัน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนวรรณกรรมที่ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาในกลุ่ม Anti-VEGF (Bevacizumab และ Ranibizumab) ในการรักษาโรคที่มีผลต่อจุดภาพชัดของจอตา 3 โรค ที่เป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1) Choroidal neovascularization (CNV) ซึ่งส่วนมากเกิดจากโรค Neovascular AMD 2) DME และ 3) RVO โดยเปรียบเทียบการรักษาด้วยยา Anti-VEGF กับการรักษาอื่นที่เป็นมาตรฐาน