วิไลลักษณ์ แสงศรี*
จอมขวัญ โยธาสมุทร*
ศรีเพ็ญ ตันติเวสส*
บทคัดย่อ
การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย (National Health Examination Survey: NHES)
ในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 และดำเนินการเรื่อยมาทุก 5 ปี การสำรวจนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 วิธีหลัก ได้แก่ การทดสอบหรือตรวจร่างกายเบื้องต้นและการสัมภาษณ์ตามแบบคำถาม การสำรวจสุขภาพโดยการตรวจร่างกายให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงระดับประชากร ซึ่งไม่สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสุขภาพโดยการตรวจร่างกายสามารถนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและการติดตามตัวชี้วัดและนโยบายด้านสุขภาพ แม้ว่าการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายจะดำเนินการมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการประเมินการบริหารจัดการการสำรวจอย่างเป็นระบบ การศึกษานี้เป็นการประเมินระบบบริหารจัดการการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายใน 4 ประเด็น ได้แก่ บทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทรัพยากรที่ใช้ในการสำรวจ การจัดการฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการสำรวจ และประเด็นจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงฐานข้อมูลการสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาการสำรวจฯ ในอนาคต การศึกษานี้เก็บข้อมูลโดยการทบทวนเอกสารในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 และการสัมภาษณ์เชิงลึกที่กระทำต่อแหล่งทุน ผู้บริหารการสำรวจ นักวิจัยผู้ดำเนินการสำรวจ และผู้ใช้ข้อมูลการสำรวจ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 รวมผู้ให้สัมภาษณ์ 26 คน ซึ่งประเด็นการทบทวนวรรณกรรมและคำถามสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกครอบคลุมการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 1-5
ผลการศึกษาพบว่า ในการสำรวจครั้งที่ 1-5 มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการสำรวจฯ แหล่งทุน และคณะกรรมการกำกับทิศทางการสำรวจฯ มีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการสำรวจฯ หลายครั้ง และไม่มีนโยบายการดำเนินงานระยะยาวที่ชัดเจน การสำรวจฯ เกือบทุกครั้งได้รายงานข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการสำรวจฯ แต่ก็ยังขาดการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในระยะยาวและไม่มีแหล่งทุนที่สนับสนุนงบประมาณในระยะยาวด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการสำรวจฯ ต้องของบประมาณจากแหล่งทุนเป็นครั้งๆ ไป ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและบุคลากรในหน่วยงานที่รับผิดชอบการสำรวจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ นโยบายและแนวทางการขอใช้ประโยชน์จากข้อมูลการสำรวจก็ไม่ชัดเจน แม้จะมีการร่างแนวทางการขอใช้ข้อมูลดังกล่าวขึ้นในการสำรวจฯ ครั้งที่ 4 แต่แนวทางดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ทำให้นักวิจัยนอกเครือข่ายการสำรวจเข้าถึงฐานข้อมูลการสำรวจและสิ่งส่งตรวจได้ยาก ส่งผลให้ข้อมูลไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีบางประเด็นของการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายที่อาจซ้ำซ้อนกับการสำรวจอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานเดียวกันกับการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาการบูรณาการการสำรวจในแง่มุมต่างๆ
Full Text: http://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5112/hsri-journal-v13n3-p284-302.pdf?sequence=1&isAllowed=y