การประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนและการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้บริหารและบุคคลากรทางการแพทย์ในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อมูลดังกล่าวนับวันจะเพิ่มความสำคัญในระบบสาธารณสุขมากขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใหม่ ๆ ถูกค้นพบตลอดเวลาและมักมีราคาแพงกว่าเทคโนโลยีเดิมที่ใช้อยู่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นส่งผลให้อุบัติการณ์และความชุกของโรคเรื่องรังสูงขึ้นและต้องการทรัพยากรเพื่อการสาธารณสุขมากขึ้น
โครงการพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย จัดทำโดย Ganesh SAP research Unit คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยรวบรวมงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงเรื่องยา เครื่องมือแพทย์ หัตถการ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่มีการศึกษาในบริบทของประเทศไทยทั้งจากฐานข้อมูลในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการประเมินคุณภาพของงานวิจัยเพื่อความสะดวกในการพิจารณานำข้อมูลไปใช้
วัตถุประสงค์
- เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงฐานข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับในประเทศไทย
- เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผ่านมาและที่จะมีการศึกษาในอนาคตโดยมีการวิเคราะห์คุณภาพของงานวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลแต่มีความรู้ในด้านการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์จำกัด เป็นการกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ของงานวิจัยทั้งในระดับนโยบาย เวชปฏิบัติและวิจัย
- เพื่อเป็นที่ปรึกษาสำหรับหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยและนักวิจัย เพื่อใช้จัดลำดับความสำคัญของการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ลดความซ้ำซ้อนของงานวิจัย รวมถึงศักยภาพในการนำงานวิจัยทีมีอยู่ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดงานวิจัยอื่น
- เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิตาม guideline ที่สร้างขึ้นอย่างเหมาะสมสำหรับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารในประเทศ
ประเภทของงานวิจัยที่รวบรวม
- Full economic evaluation
- Randomized controlled trial
- Quality of life
- Cost analysis/ Cost of illness
แหล่งข้อมูลของงานวิจัย
- Original article
- Thesis/ Dissertation
- Report
- Proceeding