logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ทำไมประเทศต้องช่วยลดเค็มให้คุณ ?

แค่คุณชอบเหยาะน้ำปลา โรยเกลือ เติมผงชูรส คงไม่มีใครเดือดร้อน แล้วเหตุใดรัฐบาลถึงอยากให้คุณกินเค็มให้น้อยลง

รสชาติที่ถูกใจ รสอาหารที่ถูกปาก ความสุขจากการได้กินอาหารที่ถึงรสถึงชาติคงเป็นความสุขง่าย ๆ ที่เราต่างเลือกได้ด้วยตัวเอง แต่แล้วเหตุใดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจึงเริ่มมีนโยบายควบคุมการบริโภคโซเดียม เริ่มมีการรณรงค์ที่เรียกกันว่า “ลดเค็ม ลดโรค” ก่อนตามติดมาด้วย “ภาษีเกลือ”

กินเค็มผิดตรงไหน ? อะไรคือเหตุผลที่ต้องลดความเค็มกันขนาดนี้ นำมาสู่คำถามข้องใจ ทำไมประเทศต้องช่วยลดเค็ม (ลดโซเดียม) ให้กับคนไทย ? เพียงเติมเค็มลงอาหารสร้างความเสียหายอะไรได้บ้าง ? วันนี้เรามีคำตอบ

 

แค่เค็ม (โซเดียม) ก็เสี่ยงโรคได้

คุณอาจไม่รู้ตัว แต่ทุกวันนี้คุณอาจกำลังบริโภคโซเดียมมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย และทุก ๆ วันที่ผ่านไป ร่างกายที่ได้รับสารอาหารมากเกินไปของคุณก็กำลังขยับเข้าใกล้โรคร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่โรคความดันจนถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร

โซเดียม ไม่ใช่เกลือ แต่มีมากในเกลือ และเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยปกติแล้วร่างกายต้องการโซเดียมที่ปริมาณ 1.5 กรัมต่อวันเท่านั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คนทั่วไปบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (คิดเป็นเกลือ 5 กรัมต่อวัน คือประมาณ 1 ช้อนชาเท่านั้น) แต่ปัจจุบันมีการศึกษาว่าคนไทยบริโภคโซเดียมโดยเฉลี่ยมากเป็น 2 เท่า (4.3 กรัมต่อวัน) ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน

ของกินใกล้ตัวที่โซเดียมสูงทะลุมีหลายอย่างด้วยกัน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสชาติยอดนิยมจากยี่ห้อดังมีปริมาณโซเดียมถึง 1.28 กรัม แค่ 2 ซองก็เกินปริมาณแนะนำแล้ว อาหารเมนูง่าย ๆ อย่าง ข้าวราดผัดกะเพราก็มีปริมาณโซเดียมอยู่ถึง 1.2 กรัม หรือขนมขบเคี้ยวอย่างมันฝรั่งทอดกรอบห่อขนาด 160 กรัมก็มีโซเดียมถึง 1.05 กรัม

ทั้งนี้ หากบริโภคโซเดียมมากเกินไปจะทำให้เลือดเสียสมดุล มีน้ำคั่งอยู่ในหลอดเลือดมาก ปริมาตรเลือดสูงขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตสูงซึ่งส่งผลไปยังระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ไตต้องทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้เมื่อร่างกายพยายามขับโซเดียมออกทางน้ำ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นซึ่งขับเอาแคลเซียมออกมาทำให้กระดูกเกิดปัญหาได้อีกด้วย[1]

อาจกล่าวได้ว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไปอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลายคน และพฤติกรรมเหล่านี้เองที่สั่งสมจนกลายเป็นความเสี่ยงโรคมากมาย

ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากเกินไปนั้นจะเพิ่มระดับความดันโลหิต เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และยังทำให้เกิดโรคไต กระดูกเปราะ และมะเร็งกระเพาะอาหาร[2]

ทั้งนี้ ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตในคนไทย ดังนั้น มาตรการควบคุมการบริโภคเกลือจึงเป็นนโยบายสำคัญที่จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้

ต้องเล็งไปที่ผู้ผลิตอาหาร

อาหารที่จะเข้าสู่ร่างกาย คุณย่อมเป็นผู้เลือก คุณเลือกจะกินอะไร เค็มแค่ไหน กินให้สุขภาพดีอย่างไร ย่อมเป็นหนทางของคุณ เมื่อได้รู้ถึงอันตรายของการกินเค็มแล้วจะลดการกินเค็มได้อย่างไร ? แนวทางปฏิบัติในการลดเค็ม ลดโรค เพื่อให้สุขภาพดีขึ้นคงไม่ใช่เรื่องยาก อาจเริ่มจากฝึกกินอาหารรสจืด ลดเค็มทีละนิด หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวและอาหารสำเร็จรูปและพยายามอย่าปรุงรสเพิ่มหรือใส่น้ำจิ้ม

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือพฤติกรรมการกินของคุณที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดเค็ม แต่หากสภาพแวดล้อมรอบตัวคุณมีแต่อาหารโซเดียมสูง ร้านอาหารละแวกที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงานเต็มไปด้วยอาหารปรุงรสเค็มจัด อาหารที่วางขายตามห้างร้านยังมีโซเดียมสูง ความยากลำบากในการลดโซเดียมก็ดูจะเพิ่มขึ้น และสำหรับบางคนอาจแทบเป็นไปไม่ได้

แล้วคุณจะลดเค็มด้วยตัวเองสำเร็จได้อย่างไรล่ะ? ตรงนี้เองที่ประเทศต้องช่วยคุณ

คุณอาจคุ้นตากับแคมเปญ “ลดเค็ม ลดโรค” อาจได้ยินมาตรการ “ภาษีเกลือ” ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินงาน แล้วมีอะไรอีกบ้างที่รัฐบาลช่วยให้คุณลดเค็มได้ง่ายชึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาโซเดียมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นภัยด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจึงได้มีการจัดทําคู่มือเชิงเทคนิคหรือ “The SHAKEpackage” เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ดําเนินการและติดตามยุทธศาสตร์การลดบริโภคเกลือในประเทศของตน โดยมีอยู่ 5 มาตรการด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1 การเฝ้าระวัง (Surveillance) เพื่อวัดและติดตามการใช้เกลือหรือโซเดียมของประชาชน

2 การควบคุมอุตสาหกรรม (Harness industry) เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับสูตรอาหารลดปริมาณโซเดียม

3 การรับรองมาตรฐานการติดฉลากอาหารและการทําการตลาดอาหาร (Adopt standards for labelling and marketing) เพื่อให้มีการติดฉลากอาหารและการทําการตลาดอาหารที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ประชาชนเลือกบริโภคอาหารที่มี โซเดียมน้อยลง

4 การสื่อสารและสร้างความรู้ (Knowledge) เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการเลือกบริโภค

5 การสร้างสภาพแวดล้อม (Environment) ที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

โดยในประเทศไทยมีการดำเนินการไปแล้ว 4 มาตรการซึ่งมีอยู่รอบตัวคุณนั่นเอง

นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวผ่านเว็บไซค์ hfocus.org ว่า มาตรการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย ได้ดำเนินการใน 4 มาตรการสำคัญซึ่งตรงกับกลยุทธ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 1 ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2 การติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภค 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และ 4 การรณรงค์ให้ความรู้[3]

4 มาตรการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ที่ช่วยให้คุณเริ่มที่จะเลือกกินอาหารที่เค็มน้อยลง เมื่อคุณหาซื้ออาหารตามห้างร้าน ฉลากบนผลิตภัณฑ์ก็ช่วยให้ข้อมูลปริมาณโซเดียมอย่างชัดเจน นอกจากนี้มาตรการทางภาษีก็มีส่วนช่วยปรับปรุงส่วนผสมของอาหารเหล่านั้นให้มีโซเดียมน้อยลงด้วย

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยถึงแนวคิดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอาหารตามปริมาณความเค็ม และปริมาณไขมันว่าจะเน้นเก็บจากอาหารที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรม (ไม่ใช่เก็บจากชาวบ้านทั่วไป) โดยจะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยอาจให้เวลา 5 ปี ซึ่งหากผู้ประกอบการลดไขมันหรือความเค็มได้เลยก็จะได้อัตราภาษีลดลง[4]

มาตรการภาษีความเค็มในต่างประเทศมีการบังคับใช้แล้ว และได้ผลลัพธ์ที่ช่วยให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น ในประเทศฮังการี การเก็บภาษีหวาน – เค็มช่วยเพิ่มการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลเสียต่อสุขภาพ 20-35% โดยให้เหตุผลว่า ราคาสูง (80%) และห่วงสุขภาพ (20%) ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรอาหารเพื่อลดภาษี นอกจากนี้ ภาษียังมีผลต่อการบริโภคน้ำตาลและเกลือของประชาชนโดยเฉพาะคนที่บริโภคปริมาณสูงอยู่ก่อน[5]

สิ่งที่ประเทศจะได้รับกลับไป จากการศึกษา “ประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ” ในปี 2561 พบว่า หากมีการดำเนินนโยบายลดโซเดียมจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลจากโรค รวมถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี

ในส่วนของ HITAP ก็กำลังมีงานวิจัย เรื่อง “การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของนโยบายควบคุมการบริโภคโซเดียม” เพื่อประเมินต้นทุนและผลลัพธ์ของการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการบริโภคเกลือ โดยจะเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ความเค็มอาจเคยเป็นพฤติกรรมที่ดูไม่เสียหายอะไรในอดีต ทว่าถึงตอนนี้ความเสี่ยงโรคที่เพิ่มขึ้น ความเค็มที่ดูไม่มีพิษภัยกลับกลายเป็นสิ่งอันตรายที่ทุกคนควรระวัง

[1] https://www.thaihealth.or.th/Content/35967-%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%20%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html

[2] https://www.hfocus.org/content/2019/01/16807

[3] https://www.hfocus.org/content/2019/01/16807

[4] https://www.bbc.com/thai/thailand-46136054

[5] https://www.hfocus.org/content/2018/12/16634

8 กันยายน 2562

Next post > ตรวจมวลกระดูก จำเป็น(ซะ)เมื่อไหร่ ?

< Previous post เปิดโลก “นศ.เภสัชออกค่าย” มาวิจัย HTA มุมมองที่เปลี่ยนไปจาก “สุขภาพชาวบ้าน” ถึง “นโยบายสุขภาพ”

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ