logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิดโลก “นศ.เภสัชออกค่าย” มาวิจัย HTA มุมมองที่เปลี่ยนไปจาก “สุขภาพชาวบ้าน” ถึง “นโยบายสุขภาพ”

ในการเรียนการสอนของคณะเภสัชศาสตร์มีแบบฝึกหัดข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอนั่นคือ การเลือกสั่งจ่ายยาให้กับคนไข้ ทว่าในความเป็นจริง โรงพยาบาลกลับไม่สามารถเบิกจ่ายยาที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาได้ด้วยกรอบของนโยบาย เช่น สิทธิ์การรักษาไม่ครอบคลุมยาดังกล่าว โจทย์นี้คงสร้างความอึดอัดใจบางประการให้กับคนทำงานที่อยากให้การรักษาออกมาดีที่สุด

ปวเรศ วังเมธากุล นักศึกษาฝึกงานจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเช่นนั้น

“ตอนเรียนวิชาเกี่ยวกับยาจะมีงานที่ให้เราเลือกยาให้ผู้ป่วย เราก็จะหงุดหงิด ทำไมมันใช้ไม่ได้ เราก็รู้สึกไม่ชอบคนกำหนดนโยบายบ้าง คนทำข้อมูลงานวิจัยบ้างว่า ยามันเข้ามาตั้งนานแล้วทำไมมันไม่เข้าบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ มันมีเข้ามาในไทยแล้ว”

แต่แล้วช่วงเวลา 3 เดือนของการฝึกงานที่ HITAP ก็ไขความกระจ่างหลายข้อให้กับเขา

“มาทุกวันนี้รู้แล้วครับทำไมมันต้องใช้เวลา เพราะมันส่งผลกระทบทั้งประเทศ จะมาเร็ว ๆ ลวก ๆ ไม่ได้ รู้ตอนนี้เลยครับย้อนกลับไป 3 เดือนที่แล้วยังไม่รู้ขนาดนี้”

บทความต่อไปนี้ ขอนำเสนอมุมมองต่องานวิจัยและนโยบายสุขภาพที่เปลี่ยนไปของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ผ่านงานดูแลสุขภาพชาวบ้านระดับพื้นที่จนถึงงานวิจัยนโยบายสุขภาพระดับประเทศ

 

“กล้ามะกอก” กล้านอกกรอบเพื่องานอาสา

กิจกรรมออกค่ายอาสาคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาที่หลายคนได้พบผ่าน สำหรับบางคนงานจิตอาสาไม่ใช่เพียงประสบการณ์หนึ่งที่ผ่านเลยไปหากเป็นจุดเริ่มต้น ปวเรศค้นพบคุณค่าของการอุทิศตนให้ผู้อื่น และยังผลักดันให้เขาอยากทำงานจิตอาสามากขึ้น แต่ดูเหมือนกรอบและเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยมักมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่กินเวลานาน เขาจึงได้เริ่มก่อตั้งชมรมจิตอาสาของตัวเองร่วมกับเพื่อนจากจุดนั้น

“ชื่อ ชมรมกล้ามะกอก เป็นกลุ่มจิตอาสา ผมก่อตั้งกับเพื่อนเองเลยครับ เราอยากจะออกไปทำงานจิตอาสา สามารถติดตามกลุ่มเราได้ทางเฟสบุ๊คนะครับ” เขายิ้ม ท่าทางภาคภูมิ “เราคิดว่า ทำไมต้องลงไปช่วยเขาปีละครั้ง ทำไมต้องไปไกล ๆ เรารู้สึกว่าแถวม.ยังมีคนสุขภาพไม่ดี เราอยากทำเพื่อคนอื่น ไม่ต้องมีคนเยอะ ไม่ต้องมีป้ายขนาดใหญ่บอกว่าเราเป็นใครก็ได้”

เมื่อก่อตั้งชมรมเขาก็ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่บริจาคสิ่งของตามมูลนิธิ เล่นดนตรีที่สถานสงเคราะห์คนชราจนถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพตามชุมชน ในช่วงเวลาดังกล่าวการเข้าหาผู้คนด้วยงานจิตอาสากลายเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคย จนเมื่อชั้นปีสูงขึ้นมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านสุขภาพมากขึ้น เขาก็ได้ฝึกงานดูแลสุขภาพคนในชุมชน ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) แห่งหนึ่ง

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงตามติดมาทำให้ข้องใจก็คือกรอบนโยบายการทำงานในแต่ละพื้นที่อันได้แก่ งบประมาณ แผนการทำงานที่กำหนดสิ่งที่ต้องทำไว้แล้วซึ่งบางสิ่งก็ไม่สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ บางอย่างที่เขาได้รับมอบหมายจาก รพสต. ให้ทำก็เช่นกัน

“ก็พอลงไปคุยกับชาวบ้าน เขาไม่อยากได้ประเด็นการรักษานี้ แล้วก็ดูไม่ใช่ปัญหาของเขา ก็งง ตอนนั้นก็ยังคิดเลยว่าแล้วเรื่องที่รพสต. เขาอยากให้เราทำมันมาจากไหน ก็เลยดื้อ (กับ รพสต.) ทำตามที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาดีกว่า”

แน่นอน แผนงานต่าง ๆ ในการลงพื้นที่ดูแลสุขภาพชุมชนของ รพสต. ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายส่วนกลาง และส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนโยบายสุขภาพเหล่านั้นก็คืองานวิจัย HTA นั่นเอง เมื่อถึงปีสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่ต้องเลือกฝึกงานตามหลักสูตร การลงพื้นที่ชุมชนจึงเป็นงานที่เขาคุ้นเคยแล้ว งานบริษัทยาก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเขา แล้วประสบการณ์แปลกใหม่ในช่วงฝึกงานที่เขามองหาควรจะเป็นที่ไหน ?

“เอ็งต้องไปฝึกงานที่ HITAP” อาจารย์ที่สนิทกันท่านหนึ่งเอ่ยแนะนำ เพียงเท่านั้น ชื่อของหน่วยงานที่เคยได้ยินในชั่วโมงเรียนเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง และเขาก็ตัดสินใจลองมาใช้ชีวิตฝึกงาน 3 เดือนเพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยพบเจอมาก่อน

ปวเรศ วังเมธากุล นักศึกษาฝึกงานจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิจัยสุขภาพของประเทศ

คนทำงานด้านสุขภาพอิงวิชาการอย่างเภสัชกรจำเป็นจะต้องพบปะกับงานวิจัยอยู่เสมอ แต่ก็มักเป็นแขนงเดิม ๆ คือ ด้านผลการรักษาของยา แต่เมื่อได้รู้จักงานวิจัยแขนงใหม่ นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์อย่างเขาก็พบด้านที่แตกต่างออกไป

“ช่วงปีหนึ่งผมจะเห็นภาพงานวิจัยดูยิ่งใหญ่มาก มันยากนะ แต่พอเรียนมาสักพัก ได้เรียนเรื่องยาเรื่องโรค มีงานให้เราเลือกยาให้ผู้ป่วย มีอย่างนึงที่คอยกรองไม่ให้เราเลือกยาบางตัวก็คือสิทธิ์การรักษาผู้ป่วยซึ่งมันก็ผูกกับนโยบาย มันจำกัดให้ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ก่อนใช้อีกยา เราก็จะหงุดหงิด ทำไมมันใช้ไม่ได้ เราก็รู้สึกไม่ชอบคนกำหนดนโยบายบ้าง คนทำข้อมูลงานวิจัยบ้างว่า ยามันเข้ามาตั้งนานแล้วทำไมมันไม่เข้าบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์”

หลังจากได้รู้จักชุดสิทธิประโยชน์ พอได้ผ่านตากับงานวิจัยที่ใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย มาถึงวันนี้เขาได้ลงมือทำวิจัยด้วยตัวเอง สิ่งที่พบเจอระหว่างฝึกงานช่วยเปิดมุมมองให้เขาเข้าใจมากขึ้น เข้าใจถึงการทำงานเบื้องหลัง เงื่อนไขของงานที่สลับซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อแลกกับความถูกต้องแม่นยำ เพราะงานวิจัยนี้จะส่งผลกระทบระดับประเทศต่อไป

“มาทุกวันนี้รู้แล้วครับทำไมมันต้องใช้เวลา เพราะมันส่งผลกระทบทั้งประเทศ จะมาเร็ว ๆ ลวก ๆ ไม่ได้ ใจเรายังอยากให้เร็วอยู่ ตอนเรียนอ่านเอกสารงานวิจัย เห็นตัวเลขชุดเดียวเอง ทำไมมันนาน พอมาทำจริง มันต้องอ่านงานวิจัยหลายชิ้นมากกว่าจะได้ตัวเลข ต้องคิดก่อนว่าจะใช้ตัวเลขนี้ได้มั้ย อาจต้องนำตัวเลขจากงานวิจัยหลายชิ้นมาวิเคราะห์เพื่อเป็นตัวเลขเดียว มันกินเวลาไม่ใช่แค่วันสองวัน เป็นเดือนกว่าจะได้ตัวเลขตัวเดียว”

เพื่อนที่ร่วมฝึกงานด้วยกันเพื่อหาตัวแปรในงานวิจัยเพียงตัวเดียว จำเป็นต้องอ่านงานวิจัยร่วม 70 ชิ้นเพื่อนำตัวเลขมารวมกันแล้วประมวลผล

“รู้สึก เออ มันสมเหตุสมผลแล้วน่ะ ไม่หงุดหงิดแล้วตอนนี้คือเข้าใจเลย”

หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ถูกใจในอดีตย้อนกลับมาให้เขานึกทบทวนด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป จากการรักษาคนไข้ตรงหน้าให้ดีที่สุดคือสิ่งสำคัญแรกเริ่มที่เขาได้รับการสั่งสอน ผ่านการลงพื้นที่พบข้อจำกัดของนโยบายกลายเป็นอุปสรรคที่กำหนดการรักษา ถึงวันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยซึ่งอยู่เบื้องหลังนโยบายนั้นส่งผลให้ตอนนี้เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้น

“เปลี่ยนนะครับ รู้สึกว่าตอนแรกเรามองว่ามันไม่ถูกใจเรา แต่พอได้ทำวิจัยก็รู้ว่ามันทำให้ถูกใจเราไม่ได้หรอก มันมีหลายเรื่องเข้ามาบีบให้ต้องเป็นแบบนี้ เมื่อก่อนเรามองภาพที่ยังแคบอยู่ ตอนนี้มันเปิดหูเปิดตาเราเยอะ รู้สึกว่าการที่เราจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบ ไม่ชอบ เราควรจะศึกษามันก่อน ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้

“ไม่รู้ว่าเราจะรู้ได้ทุกอันหรือเปล่า บางอย่างอาจจะบอกไม่ได้ แต่บางอย่างเราดูข้อมูลได้ว่าทำไมถึงมีการตัดสินใจแบบนี้ ก็อยากรู้ว่ามีข้อจำกัดแบบนี้ มันก็ต้องแบบนี้แหละ ไม่สามารถตามใจทุกคนได้ บางทีเราก็อคติด้วยครับ สิ่งที่เราเจอตรงหน้าที่นโยบายมันไม่ตรงกับความต้องการ มันอาจจะเป็นภาพเล็ก ๆ ในระบบขนาดใหญ่ ชุมชนนี้อาจจะไม่ตรง แต่ที่อื่นตรงหมดเลยก็ได้ การจะให้มีความยืดหยุ่นขนาดนั้นคงทำไม่ได้ในระดับประเทศ”

สุขภาพของชาวบ้านตรงหน้ากับนโยบายสุขภาพ ดูจะมีบางจุดที่ไปด้วยกันไม่ได้นัก เพราะนโยบายระดับชาติไม่สามารถตอบโจทย์ระดับบุคคลได้ทั้งหมด แต่การวิจัยนโยบายสุขภาพได้ช่วยให้คำตอบแก่เขาว่าทำไม และทำให้เขาเห็นความท้าทายในการดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศมากขึ้น

30 สิงหาคม 2562

Next post > ทำไมประเทศต้องช่วยลดเค็มให้คุณ ?

< Previous post ปอกเปลือกประเมิน "งดเหล้าเข้าพรรษา" เข้าหูใคร ได้ผลจริงหรือ ?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ