ยาต้านพิษจัดอยู่ในประเภทยากำพร้าซึ่งมีปัญหาในการเข้าถึง เนื่องจากขาดยาสำรองในประเทศ รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยยังขาดความรู้ด้านการใช้และการบริหารจัดการยาต้านพิษ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้าในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเริ่มจากกลุ่มยาต้านพิษ เพื่อให้เกิดการสำรองยาที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วย “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึง 2561 ประกอบด้วย 1) การจัดอบรมเกี่ยวกับโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและความรู้ด้านพิษวิทยา 2) การจัดหา สำรอง และการกระจายยาต้านพิษ ครอบคลุมการพัฒนาศักยภาพการผลิตยาต้านพิษในประเทศ การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์และพัฒนาระบบสืบค้นแหล่งสำรองยา โดยใช้ web based application เชื่อมโยง stock ยาในแหล่งสำรองยาทั่วประเทศเข้ากับฐานข้อมูล Geographic Information System (GIS) แบบ real-time และพัฒนาระบบ Vendor Managed Inventory (VMI) เพื่อการจัดหาและกระจายยาไปสำรองยังหน่วยต่างๆ 3) การให้คำปรึกษาแก่บุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยด้านพิษวิทยาและประเมินผลการใช้ยา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาระงบประมาณ ผลผลิต และผลลัพธ์ ของโครงการดังกล่าว ซึ่งจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษอย่างต่อเนื่อง
การศึกษานี้ใช้วิธีวิจัย เชิงปริมาณ (Quantitative approaches) และเชิงคุณภาพ (Qualitative approaches) เก็บข้อมูลด้วยวิธีทบทวนเอกสาร (ได้แก่ ฐานข้อมูลผู้ป่วยในโครงการฯของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนเอกสารซึ่งสรุปข้อมูลจากฐานข้อมูลศูนย์พิษวิทยาศิริราช และฐานข้อมูลโรงพยาบาลรามาธิบดี และรายงานสรุปผลการดำเนินการของโครงการฯ) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานในส่วนกลาง หน่วยงานระดับจังหวัด และสถานพยาบาลในเครือข่ายยาต้านพิษ และการสนทนากลุ่ม (focus group discussion) กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง