เมื่อเข้าใจก็ไม่กลัว “ยาแทนรักษาโรคซึมเศร้า” กับทราย – เจริญปุระ
ก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลง ใคร ๆ ก็กลัว
ทราย – เจริญปุระ คือนักแสดงชื่อดังผู้ใช้ชีวิตปกติพร้อมกับรักษาอาการซึมเศร้า และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไปด้วยในฐานะที่เป็นทั้งผู้ป่วยและคนดูแลผู้ป่วยซึ่งก็คือแม่ของเธอเอง ในมุมหนึ่งสังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่อง “โรคซึมเศร้า” จากเธอไม่มากก็น้อย
“จริง ๆ เห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เพราะคุณแม่หาหมอจิตเวชมาตั้งแต่ทรายยังเด็ก ช่วงแรก [ทราย] ก็หาคุณหมอเอกชนเหมือนกัน จนมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางบ่อย ก็หนักเหมือนกัน เลยเลือกหาหมอที่ใกล้บ้านซึ่งก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญาที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ คุณหมอก็บอกว่ามียาที่ใช้แทนได้นะ ทรายก็กลัว ยาใช้แทนคืออะไร หมายถึงยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็พึ่งมาเรียนรู้ตรงนั้น”
ใช่แล้ว ก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลง ใคร ๆ ก็กลัว แต่เมื่อได้ออกก้าวแล้วก็ได้เรียนรู้และเข้าใจ ต่อไปนี้คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ความเข้าใจคือกุญแจสู่การรักษา
โรคซึมเศร้าเคยเป็นสิ่งที่สังคมขาดความเข้าใจ หลายครั้งส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก บางคนไม่เชื่อว่าเป็นโรค เพียงทำใจให้เข้มแข็งเดี๋ยวก็หายเศร้าเอง เหล่านี้ก่อให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ซ้ำเติมจนยากแก่การรักษา ถึงทุกวันนี้สังคมจะมีความเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่รายละเอียดของกระบวนการรักษาโรคทางจิตเวชก็ยังคงมีความซับซ้อน ทั้งการใช้ยาแทน ปริมาณยาที่ต่างกันในคนไข้แต่ละคน สิ่งเหล่านี้จากประสบการณ์ตรงของเธอ ความเข้าใจของผู้ป่วยในการมารักษาก็เป็นสิ่งสำคัญ
แล้วความไม่เข้าใจในกระบวนการรักษาก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง? เธอเผยว่า หากคนไข้ไม่เข้าใจการรักษาในมุมของหมอเลย ความไม่ไว้วางใจก็อาจเกิดขึ้น การเปลี่ยนยาเป็นยาในบัญชียาหลักเพื่อการรักษาของหมอจะถูกมองในแง่ร้าย หมอแกล้งคนไข้หรือเปล่า หรือหากอาการดีขึ้น หมอนัดมาเจอน้อยลง คนไข้อาจรู้สึกน้อยใจจนอาการแย่ลงไปอีก
“คือเหล่าคนไข้ก็มีจิตใจที่อ่อนไหวกันมากอยู่แล้ว ยาดีแล้วมาเปลี่ยนทำไม? แกล้งเราเหรอ? หรือคนไข้ตอนแรกนัดมาพบหมอ 2 อาทิตย์ครั้ง พอดีขึ้นนัดเดือนละครั้งแทน ดราม่ารู้สึกหมอไม่ใส่ใจอีก บางคนหมอนัดบ่อย หาว่างก จะเอาค่าตรวจอีก ทรายเข้าใจว่าคุณหมอในโรงพยาบาลรัฐภารกิจเยอะมาก ไม่มีเวลาที่จะมานั่งอธิบายได้ละเอียดมาก ๆ แต่ก็อาศัยว่าเราเป็นคนช่างซัก (หัวเราะ) ถามจน อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง มันเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจล้วน ๆ เลย คือบางคนรู้สึกว่าถ้าใช้ยานี้แล้วมันก็ต้องหายเลยสิ คือมันก็เป็นโรคที่ไม่หายเลยอีก มันก็ต้องปรับกันไปเรื่อยๆ อีก”
การทำงานในระบบสุขภาพจำเป็นจะต้องมีขั้นตอนมากมายหากคนในสังคมรวมไปถึงคนไข้ถอยออกมาสักนิดนึง มองเห็นการทำงานอย่างเข้าใจมากขึ้น การไว้เนื้อเชื่อใจก็จะเกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างที่เธอได้พบเจอมาตลอด
“บางทีคุณต้องเข้าใจเหมือนกันนะ ในหนึ่งวันตัวเราเองเจอปัญหาชีวิตเราคนเดียวยังแย่เลย แล้วคุณหมอเขาต้องมาฟังปัญหาชีวิตของคน 50 คน ไม่นับบนวอร์ดที่เครียด ๆ คือทรายข้ามจุดตรงที่หมอเขาเลี้ยงไข้ไปเลย หมอเขาก็อยากให้เราหาย คือทรายเข้าใจทุกฝ่ายนะ ของพวกนี้มันต้องใช้เวลา”
บัญชียาฯ ช่วยแบ่งเบา…ในวันที่บอบบาง
เมื่อต้องเผชิญโรคร้าย สิ่งที่หนักหนายิ่งกว่าการรักษาสำหรับหลายคนคือเงินค่ารักษาพยาบาล มีรายจ่ายมากมายปรากฏขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ค่าเดินทาง ค่ายา ค่ารักษาซึ่งต้องจ่ายไปอย่างต่อเนื่องยาวนานก็ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับปัญหา
“บางคนเจอรอบแรกมาต้องทานยา 2,000 บาท หมดไป อีกอาทิตย์มาใหม่จ่ายอีก 2,000 บาท มันหนักนะ แล้วก็ไม่ทราบว่าอาจจะต้องกินต่อเนื่องเป็นปี ความช็อกจะถาโถมมาเรื่อย ๆ คือทุกคนก็ต้องมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่พอรู้ว่ามียาแทนที่สามารถใช้แทนกันได้ เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มันก็เบาลง”
จากเดิมที่ไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาทต่อครั้ง เมื่อเปลี่ยนมาใช้บริการโรงพยาบาลรัฐพร้อมใช้ยาแทนซึ่งเป็นตัวยาเดียวกันเพียงแต่ไม่ใช่ยายี่ห้อต้นตำรับซึ่งมักมีราคาสูง โดยเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายก็ลดลงไปได้มากเหลือเพียงประมาณ 1,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายที่ลดลงก็มีบางสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยน เช่น ต้องเข้าคิวรอคอยการรักษานาน หรือบรรยากาศที่ไม่ได้หรูหรา สะดวกสบายอย่างโรงพยาบาลเอกชน
“แน่นอนว่ามันก็มีอะไรที่ต้องแลกมา มันอาจจะช้า ทรายเข้าใจความอึดอัดของหลาย ๆ คน ตอนแรกทรายก็รู้สึกเกร็ง ๆ มันไม่เหมือนเวลาเราเข้าไปในแผนกฝากครรภ์แล้วทุกคนท้อง อันนี้คือทุกคนเป็นอะไรสักอย่าง แต่เรายังดูไม่ออกว่าเขาเป็นอะไร บางคนดูออก บางคนก็ดูไม่ออก แต่ไม่มีอะไรน่ากลัว”
แม้ยาหลายประเภทจะได้รับมาฟรี แต่บางสิ่งบางอย่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม ทว่าก็เป็นการจ่ายด้วยความเต็มใจ และเข้าใจทางเลือกในการรักษา กรณีของเธอคือคุณแม่ที่รับการรักษามาอย่างยาวนาน มีความต้องการเฉพาะที่อยากจะใช้ยาเดิม แม้จะได้ผลน้อยกว่า
“หมอเขาแนะนำยาในบัญชีฯ แต่ทรายกับแม่ตีกันทั้งอาทิตย์ สุดท้ายซมซานกลับไปหาหมอ ขอเปลี่ยนยาเพราะไม่ไหวแล้ว คือลูกเนี่ยแหละไม่ไหว! ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นการง่ายด้วยกันทุกฝ่าย เพราะพูดกันตรง ๆ ได้ สิ่งที่ทรายเลือกจ่ายเพิ่มให้ อย่างตอนคุณแม่แอดมิทมันเป็นวิธีการรักษาที่เราเลือกแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายในสิ่งที่เราต้องยอมรับ”
“ในโลกแห่งอุดมคติทุกคนก็อยากดูแลพ่อแม่ให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข อยู่บนเตียงที่นุ่มและหอมและดีมาก ๆ แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย เราอยากให้การดูแลรักษาแม่ของเราดีที่สุดมั้ย เราก็อยาก แต่ในขณะที่เราต้องทำงานไปด้วย ดูแลเขาไปด้วย หาเงินไปด้วย อะไรไปด้วย เราก็อยากจะให้มันมีวิธีที่ลงตัวที่สุด ตัวยาในบัญชีมันช่วยได้มาก มาก ๆ ”
บัญชียาหลักแห่งชาติถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยสามารถยืดหยุ่นให้คนไข้เลือกการรักษาที่เหมาะตามความต้องการของตัวเองได้อีกด้วย หากท่านผู้อ่านสนใจอยากรู้เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มเติมรับชมคลิป “บัญชียาหลักแห่งชาติคืออะไร ?” คลิก https://youtu.be/VhH0Cuf4ViM รับชมคลิปสัมภาษณ์ “ไม่ซึม ไม่เศร้า เรามีบัญชียาหลักแห่งชาติ” คลิก https://youtu.be/P8JxWP7HuYI