รู้ “ต้นทุน” ลึกถึง “กระบวนการ” ผ่าตัดระบบสุขภาพให้หายขาดทุน
ในการทำธุรกิจที่หวังกำไร หากรายได้ลดลง ทางแก้หนึ่งคือเพิ่มราคา หรือลดต้นทุนถ้ากำลังซื้อมีเท่าเดิม แต่ถ้าเป็นการบริหารโรงพยาบาล จะทำอย่างไร การวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์และสาธารณสุขช่วยได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทยมีการใช้ผลการศึกษาวิจัยรองรับการตัดสินใจมากขึ้น การวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์ก็เป็นพื้นฐานสำคัญหนึ่งในงานวิจัยเหล่านี้ เพราะทุกนโยบายย่อมมีต้นทุนที่เกิดขึ้น มีผลลัพธ์ที่ได้กลับมา จึงต้องมีการศึกษาให้รู้ลึกถึงกระบวนการทั้งหมดเพื่อให้ปรับปรุงระบบสุขภาพได้
ก่อนการอบรม “การวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์ครั้งที่ 1” ที่จะจัดขึ้นในเร็ววันนี้ HITAP ขอพาทุกคนร่วมรู้จักกับศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์ สำรวจลงไปยังต้นทุน ลึกถึงรายละเอียด เพื่อเข้าใจกระบวนการทั้งหมด และปรับปรุงการรักษาถึงระดับนโยบาย
“วิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์” ข้อมูลที่สามารถต่อรองอัตราเบิกจ่ายได้
หลังประเทศไทยมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบการเงินเบื้องหลังที่ช่วยรักษาคนทั้งประเทศก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทว่าปัญหายังคงอยู่ โรงพยาบาลมีต้นทุนในการรักษาผู้ป่วย ขณะที่ในบางระบบ เช่น ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลได้รับจัดสรรงบประมาณหรือเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามจำนวนที่กำหนด ผู้บริหารจึงต้องบริหารงบประมาณอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
แล้วการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์จะช่วยได้อย่างไรบ้างล่ะ?
รศ. ดร. ภก.อาทร ริ้วไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์และสาธารณสุข เล่าว่า ตามหลักการโดยทั่วไปสถานะทางการเงินขององค์กรหนึ่ง ๆ ประกอบจาก 2 ส่วนได้แก่ 1 รายได้ที่ได้มา และ 2 รายจ่ายที่จ่ายออกไปหรือต้นทุนที่จ่ายออกไป ฉะนั้นวิธีการที่แก้ปัญหาในภาคธุรกิจคือเพิ่มราคาเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนในภาคบริการของรัฐนั้น หากมีข้อมูลต้นทุนที่เชื่อถือได้ การต่อรองเพื่อเพิ่มรายได้ให้เท่ากับต้นทุนก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
“ในภาคบริการของรัฐ การบริหารระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของโรงพยาบาล ผมคิดว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยินดีที่จะรับฟัง หากข้อมูลต้นทุนที่นำไปเสนอแสดงกระบวนการวิเคราะห์ที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ สปสช. ก็พร้อมที่จะรับฟังและปรับปรุงอัตราเบิกจ่าย เพราะแม้แต่ สปสช.เองก็ให้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนอยู่เป็นระยะ ๆ “
รู้ลึกเรื่องต้นทุน แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
การวิเคราะห์ต้นทุนไม่ได้มีประโยชน์เพียงต่อรองเพื่อปรับอัตราการเบิกจ่าย หากยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เพราะในมุมของผู้ให้บริการ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หากโรงพยาบาลมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายก็สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ ผู้บริหารจะพูดเพียงว่าประหยัดหน่อย ควบคุมต้นทุนหน่อย มันไม่บังเกิดผลเพราะไม่รู้ว่าต้นทุนอยู่ตรงไหนบ้าง ตรงไหนมาก ตรงไหนน้อย ใครจะเป็นผู้ประหยัด ใครจะเป็นผู้ควบคุมต้นทุน”
การควบคุมต้นทุนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยข้อมูลจากการวิเคราะห์ต้นทุนที่ช่วยให้มองลึกไปถึงรายละเอียดทั้งกระบวนการ ถือเป็นข้อมูลตั้งต้นชั้นดีเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้น
“การวิเคราะห์ต้นทุนช่วยให้เห็นถึงระดับต้นทุนต่อหน่วยของการบริการประเภทต่าง ๆ ที่ทำอยู่ทุกวัน รวมไปถึงต้นทุนการรักษาผู้ป่วยในแต่ละกลุ่ม แต่ละโรค หากมีการวิเคราะห์ที่ชัดเจน เราจะเห็นได้เลยว่าหากผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน มีอาการหนัก ต้นทุนจะแตกต่างไปเท่าไหร่ ซึ่งเราสามารถคิดค้นวิธีการป้องกันได้ เพราะหากป้องกันได้เราจะประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่ นี่คือหลักการทั่วไปที่เรามีความจำเป็นต้องวิเคราะห์ต้นทุน”
เครื่องมือแพทย์ราคาแพงปัญหาที่ต้องมีคำตอบ
ปัญหาด้านต้นทุนหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับโรงพยาบาล คือการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ราคาแพง
ปัญหาดังกล่าวในมุมของการบริหารจัดการ รศ. ดร. ภก.อาทร เผยว่าต้องพิจารณาถึงกระบวนการขั้นพื้นฐานก่อน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำหัตถการต่าง ๆ เพราะเมื่อมีข้อมูลสถานการณ์รายละเอียดต้นทุนต่อหน่วยที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น็สัดส่วนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าการใช้เครื่องมือ หากเทียบกับค่าอ้างอิงที่มีการวิเคราะห์มาแล้วก็จะทราบได้ว่าส่วนใดที่มีต้นทุนมากน้อยอย่างไร และควรปรับปรุงที่ส่วนไหน หากพบโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาวิธีรักษา ควบคุมต้นทุน รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ได้
“เมื่อเราสามารถวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดต้นทุนสูงหรือต่ำ เราก็มีข้อมูลพอที่จะสามารถควบคุมต้นทุนได้ มากไปกว่านั้น เรายังสามารถพัฒนาบริการเช่น ลงทุนในเครื่องมือชิ้นใหญ่ ๆ ที่เราคาดว่าจะสามารถช่วยให้คุณภาพการรักษาดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น”
อาจกล่าวได้ว่า เมื่อผู้บริหารได้รับข้อมูลวิเคราะห์ต้นทุน รู้ว่าโรคที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงนั้น สูงเพียงใด สูงจากส่วนไหน ผู้บริหารก็สามารถปรับนโยบายเพื่อลดต้นทุนได้ หรือหากจะลงทุนในเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการรักษา ก็สามารถรู้ได้ว่าต้นทุนที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ หากคุ้มค่า ช่วยป้องกันโรค ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ งานวิจัยเรื่องต้นทุนนี้ก็สามารถเป็นข้อมูลให้โรงพยาบาลตัดสินใจลงทุนในเครื่องมือแพทย์ราคาแพงได้อย่างมั่นใจขึ้น
ทั้งนี้ ความคุ้มทุนของการลงทุนก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตอบเพราะเครื่องมือแพทย์ราคาแพงอาจไม่จำเป็นสำหรับทุกที่ บางพื้นที่มีผู้ป่วยในโรคที่ต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวน้อย ไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญพอจะใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวได้ มาตรการในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า
การวิเคราะห์ต้นทุนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ว่าคุ้มทุนหรือไม่ โดยจะเข้ามามีบทบาทในการทำให้ทราบถึงต้นทุนของเครื่องมือแพทย์นั้น ๆ รวมถึงอายุการใช้งานก่อนมีการลงทุนนำมาใช้
“เราจะสามารถคำนวนต้นทุนของการใช้งานต่อปีตลอดอายุการใช้งานของเครื่องมือแพทย์นั้นได้ หลังจากนั้นเราจะมาคำนึงถึงการใช้งานว่ามีปริมาณผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน แล้วผู้ป่วยที่ใช้งานมีอัตราเบิกจ่ายที่ผู้จ่ายเงินให้บริการเขากำหนดเบิกไว้เท่าไหร่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ”
กรณีตัวอย่าง ต้นทุนจัดการเอชไอวี
ต่อไปนี้คือกรณีตัวอย่างจากงานวิจัยด้านการวิเคราะห์ต้นทุนของ HITAP ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจากโครงการ “การวิเคราะห์ต้นทุนการจัดบริการเพื่อยุติเอชไอวีของกลุ่มประชากรหลักในประเทศไทย”
“กระบวนการรักษาเอดส์มันไม่ได้รักษาแล้วจบ” ทรงยศ พิลาสันต์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เล่าถึงกระบวนการทำวิจัยในฐานะนักวิจัยหลักชองโครงการดังกล่าว “มันเริ่มตั้งแต่การเข้าถึงกลุ่มประชากรเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีเพื่อดึงให้เข้ามาสู่ระบบการรักษา เพราะการจะรู้ว่าใครเป็นเอชไอวีได้ เขาต้องเข้ารับการตรวจเท่านั้น แต่คนเราก็ไม่ได้อยู่ ๆ จะนึกอยากเดินเข้ามาตรวจเฉย ๆ กระบวนการจึงเริ่มตั้งแต่การดึงกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการตรวจ”
แม้ตอนนี้ สปสช.จะมีนโยบายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการบริการตรวจเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง ทว่าเงื่อนไขสำคัญเริ่มแรกที่จะทำให้เกิดการยุติเอชไอวีในประเทศไทยได้ก็คือ ทำให้คนเข้ารับการตรวจโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) กลุ่มหญิงข้ามเพศ (TSW) พนักงานบริการชายและหญิง (MSW/FSW) ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดจนถึงผู้อาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
“ต้นทุนการดึงคนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาสู่กระบวนการรักษาจะมีผลอยู่ 2 แบบคือ 1 ตรวจแล้วไม่ป่วยก็ต้องดึงกลับมาตรวจใหม่เป็นประจำเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง กับ 2 ตรวจพบว่าป่วยก็ต้องได้รับยาต่อเนื่อง รักษาจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้”
โดยการวิเคราะห์ต้นทุนจะเข้าไปเก็บข้อมูลครอบคลุมทั้งหมด นอกจากการดึงกลุ่มเสี่ยงเข้ามาสู่การตรวจแล้ว ยังมีต้นทุนการตรวจวินิจฉัย การรักษาจนหายกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้การวิเคราะห์ต้นทุนจะทำให้ทราบได้ว่าต้นทุนต่อหัวประชากรเท่าไหร่
และข้อมูลต้นทุนจะถูกส่งต่อไปยัง สปสช.เพื่อนำข้อมูลนี้ไปศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าใน 1 ปีจำเป็นต้องเตรียมเงินเท่าไหร่เพื่อใช้จัดการกับปัญหาเอชไอวีทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อโรงพยาบาล ซึ่งจะได้รับจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับต้นทุนซึ่งเกิดขึ้นจริงต่อไป
ท้ายที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลนี้การวิเคราะห์ต้นทุนจึงถือเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อระบบสุขภาพของประเทศ รวมทั้งยังเป็นก้าวแรกเพื่อทำความเข้าใจศาสตร์อื่น ๆ ในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพราะปัญหาด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาล สถานบริการด้านสุขภาพ จำเป็นจะต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากบุคลากรในแวดวงสุขภาพทั้งฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายบริหาร
ติดตามเกี่ยวกับการวิเคราะห์ต้นทุนเพิ่มเติมได้ที่ “ทำความรู้จักการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์
” โดย รศ.ดร. ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์ คลิก https://youtu.be/cSEkTLj-42o