อัลไซเมอร์…มหันตภัยร้ายในบั้นปลายชีวิต
มนุษย์ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่วัยชรา แทนที่จะเป็นคนแก่ประสบการณ์กลับกลายเป็นพวกหลงๆ ลืมๆ ตามสังขารที่ร่วงโรยจนกระทั่งสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมนั้นฝ่อลง แต่นั่นก็ไม่ร้ายแรงเท่าไรนัก ถ้าสมองไม่จำเลอะเลือนออกอาการสมองเสื่อม หรือหนักหนาสาหัสถึงขั้นกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์
อาการขี้หลงขี้ลืมในคนแก่นั้นอาจเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อใดที่อาการหลง ๆ ลืม ๆ กลายเป็นลืมสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวัน เล่าเรื่องหรือถามคำถามซ้ำๆ อารมณ์แปรปรวน หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจเป็นไปได้ว่าว่าอาการเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่ความผิดปกติทางสมองอย่างโรคอัลไซเมอร์ ที่ไม่มีทางรักษาให้หาย มีแต่อาการแย่ลงเรื่อยๆ จากระดับแค่ความจำเสื่อมหรือพูดตะกุกตะกัก จนไปถึงขั้นระบบสมองสูญเสียการควบคุมอวัยวะในร่างกาย ไม่สามารถแม้กระทั่งเคลื่อนไหวหรือกลืนอาหารเองได้ และต้องจบชีวิตในที่สุด
จากสถิติในปัจจุบันพบว่า ที่อเมริกาพบผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ไม่น้อยกว่า 5.4 ล้านราย ส่วนเมืองไทยเรานั้น คาดว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ราวร้อยละ 2-4 ของประชากรไทยในวัย 60 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60-70 ของผู้ตรวจพบว่ามีอาการสมองเสื่อมในปัจจุบัน
ความน่ากลัวของโรคประเภทนี้ คือมันจะไปเกิดกับกลุ่มคนอายุ 60 ปี ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุในวันนี้ หลาย ๆ คน ยังรู้สึกว่าตนเองยังทำงานได้ และโรคนี้มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จากการสํารวจภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2542-44 พบว่ายิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะมีภาวะสมองเสื่อมก็มากขึ้นด้วย คนไทยที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป พบภาวะสมองเสื่อมอยู่ราวร้อยละ 11.4 แต่อยู่ในวัยเกิน 80 ปีไปแล้ว พบว่าอัตราเสี่ยงของโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงเป็นร้อยละ 41.4 เลยทีเดียว
ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้นของคนเรา จำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต จากยอดผู้ป่วยไทยที่มีภาวะสมองเสื่อมจำนวน 229,000 รายที่เคยสํารวจพบในปี พ.ศ. 2548 เป็นที่คาดการณ์ว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 450,000 คนในปี พ.ศ.2568 และอาจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนในอีกราว 40 ปีข้างหน้า
อัลไซเมอร์และหนทางบำบัดในปัจจุบัน
ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์แบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ ได้แก่ การรักษาโดยไม่ใช้ยา อาทิ การรักษาโดยใช้กิจกรรมบำบัด และการจัดการกับปัญหาด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เช่น การนวดผ่อนคลายเคล้าด้วยเสียงเพลง (massage and music therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อารมณ์ดี มีความรู้สึกผ่อนคลาย การรับรู้เพิ่มมากขึ้น และชะลอการเสื่อมของสมองให้ช้าลง
อีกวิธีถัดมา คือ การรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันมีตัวยาสำคัญอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ชนิดแรกได้แก่ ยาลดการทำลายสารสื่อประสาท หรือ ยายับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetyl cholinesterase Inhibitors) ซึ่งใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมที่อยู่ในระยะรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ผลของยาจะช่วยทำให้ผู้ป่วยยังสามารถช่วยเหลือตนเอง หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ ไม่ต้องมีผู้ช่วยผู้ดูแลตลอดเวลา ส่วนยาชนิดที่สอง เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการหลั่งสารกลูตาเมทในสมอง ซึ่งไปช่วยลดสิ่งรบกวนการรับรู้ของสมองในผู้ป่วย ยาชิดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยในระยะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
เมื่อรักษาด้วยยา ทำได้เพียงชะลออาการ
ระหว่างปี 2550-2551 นักวิจัยของ HITAP ได้ประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการใช้ยายับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเทอเรสในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง พบว่า การบำบัดรักษาโรคด้วยตัวยาในกลุ่มลดการทำลายสารสื่อประสาท ด้วยยา กาแลนทามีน(galantamine) นั้นเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในขณะนี้[1] อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยยากลุ่มดังกล่าว ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด เพียงแค่ยืดระยะเวลาการพัฒนาโรคจากระดับรุนแรงน้อย ไปสู่ระดับรุนแรงมาก โดยค่ายากาแลนทามีนมีราคาประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกรณีที่ต้องมีคนดูแลผู้ป่วย ซึ่งหากรวมแล้วกว่า 10,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียวในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการคนดูแลตลอดเวลา แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่านี่ 2-4 เท่า ในกรณีของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย นี่คือภาระอันหนักหนาเกินกว่าจะแบกรับไหว
สถานะของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในไทยวันนี้จึงยังคงน่าเป็นห่วง การป้องกันภาวะสมองเสื่อม เช่น การออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ หรือมีกิจกรรมทั้งทางความคิดและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ต่างมีหลักฐานสนับสนุนว่าช่วยให้เราห่างไกลภาวะสมองเสื่อมได้ สำหรับการวินิจฉัยและการรักษา ถึงแม้จะมียาบางตัวที่ช่วยชะลออาการได้ แต่การรักษาไม่ควรมุ่งเน้นที่ยาเพียงอย่างเดียว การใช้ยาประกอบกับวิธีการดูแลอื่นๆ เช่น การฝึกสมอง หรือพฤติกรรมบำบัด ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ให้ผลคุ้มค่า สุดท้ายการวางระบบรองรับการดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัว ชุมชน หรือระดับประเทศ จะทำให้เกิดความเข้าใจ และดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้สูงอายุในสังคมไทยใช้ชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
[1] เทียบจากค่าความเต็มใจจ่ายของสังคมที่ 300,000 บาท ต่อปีสุขภาวะ (จำนวนเงินที่สังคมยอมจ่ายเพื่อให้มีชีวิตต่ออีก 1 ปี ด้วยสุขภาพสมบูรณ์)