logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เครื่องเพ็ต-ซีที สแกน : มีไม่พอ หรือใช้ไม่คุ้ม?

จากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า โรคมะเร็งเคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ในปี พ.ศ. 2548 ปัจจุบันมะเร็งคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทย รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด และอุบัติเหตุ แต่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านการรักษาและวินิจฉัยมีความรุดหน้าขึ้นมาก โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกน มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งนับเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญอีกขั้นแห่งวงการแพทย์เลยทีเดียว

เครื่อง PET-CT สแกน คืออะไร?

ว่ากันตามภาษาชาวบ้าน เครื่องเพ็ต-ซีที สแกนคืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายเครื่องเอ็กซ์เรย์ร่างกาย แต่แทนที่จะใช้วิธีการฉายรังสีผ่านร่างกายให้ภาพไปปรากฏลงแผ่นฟิล์มขาวดำเหมือนเครื่องเอ็กซ์เรย์ทั่วไป ก็เปลี่ยนเป็นวิธีการอ่านค่าความเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีในเนื้อเยื่อต่างๆ ด้วยเครื่อง ซีทีสแกน (CT Scan) หรือเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่สามารถฉายภาพโครงสร้างทางกายภาพ หรืออวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียดและชัดขึ้น สามารถตรวจหาความผิดปรกติต่างๆ ที่มีขนาดเล็กในระดับเซลล์ได้อย่างแม่นยำและมีความว่องไวสูง

กระบวนการวินิจฉัยนั้นจะใช้วิธีป้อน สารเภสัชรังสี หรือน้ำตาลกลูโคสชนิดพิเศษ ที่มีกัมมันตรังสีในตัวเอง เข้าไปในร่างกายผู้ป่วย เพื่อให้ซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่มีการทำงาน หรือการแบ่งตัวมาก โดยเฉพาะเนื้อเยื่อมะเร็ง และเนื้อเยื่อสมองที่จะจับน้ำตาลนี้ไว้ในปริมาณมากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ทำให้เปล่งรังสีออกมามากกว่าจุดอื่น ซึ่งช่วยให้เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สามารถจับภาพได้  ด้วยเหตุนี้เอง เพ็ต-ซีที สแกนจึงมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยหาความผิดปรกติและติดตามผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคทางสมอง โรคหัวใจ และโรคทางหลอดเลือด

อัตราค่าบริการและปริมาณการให้บริการในปัจจุบัน

ปัจจุบันในประเทศไทยมีเครื่องเพ็ตซีทีสแกนอยู่ราว 5 เครื่อง ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยกระจายอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน แต่แนวโน้มนําเข้าเครื่องมือชนิดนี้อาจมีมากขึ้นในอนาคต ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง มีแผนจะเปิดให้บริการเพ็ต-ซีทีสแกนแก่ประชาชนในปีพ.ศ. 2556 นี้…แต่จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีความต้องการใช้เยอะขนาดนี้หรือไม่ ?

ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์คิดค่าบริการตรวจด้วยเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกน อยู่ที่ครั้งละ 6 หมื่นบาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนคิดครั้งละ 6-7 หมื่นบาท แต่ก็มีให้บริการเพียงไม่กี่แห่ง จะเห็นว่าค่าบริการนั้นค่อนข้างสูง เนื่องจากต้นทุนของอุปกรณ์ชนิดพิเศษนี้อยู่ที่ 800 ล้านบาท ซึ่งเครื่องแต่ละเครื่องจะมีจุดคุ้มทุนก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้บริการ 8 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่อบวกรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับสารเภสัชรังสีที่ใช้ในวินิจฉัยเข้าไปอีกราว 20,000 บาท นี่ยังไม่นับรวมค่าบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนแค่ 10 กว่ารายเท่านั้นที่มีความสามารถในการแปลผลจากเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมการตรวจหาความผิดปรกติในร่างกายด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้จึงมีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว

ในสหรัฐอเมริการัฐบาลให้สนับสนุนการใช้ เพ็ต-ซีที สแกน ในการตรวจวินิจฉัยทั้งโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ สำหรับประเทศอังกฤษสนับสนุนการใช้ เพ็ต-ซีที สแกน เพื่อการตรวจวินิจฉัยมะเร็งหลายชนิด แต่ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ควรมีเครื่อง เพ็ต-ซีที สแกน 1 เครื่อง ต่อจำนวนประชากร 1.5 ล้านคน และสนับสนุนให้มีระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ดี แทนที่จะกระจายให้มีเครื่องครอบคลุมทั้งประเทศ

ส่วนในบ้านเรานั้น แม้ว่าจะมีจำนวนเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกนมากกว่าเกาะอังกฤษ แต่ยังมีปัญหาว่าผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะค่าบริการที่สูง ข้อจำกัดในการให้บริการ และปัญหาการกระจายตัวของเครื่อง ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการซื้อเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกนเพิ่มอาจไม่ใช่คำตอบ แต่ทำอย่างไรเพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวเกิดการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการกำหนดหลักเกณฑ์โรคที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการวินิจฉัยด้วยเครื่องเพ็ต-ซีทีสแกนน่าจะเป็นคำตอบ

20 มีนาคม 2556

Next post > สาว ๆ คะ...ไปคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันเถอะ

< Previous post น้ำเมา...ราคา ค่า(คร่า)ชีวิต

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ