เพิ่มคนสูบบุหรี่ เพิ่มต้นทุนสังคมอย่างไร? คุ้มค่าหรือไม่?
บุหรี่เป็นหนึ่งในกิจการที่สร้างรายได้ให้ภาครัฐ ทว่าต้นทุนการสูบบุหรี่ที่แท้จริงอาจกลับย้อนมาทำร้ายประเทศโดยไม่มีใครนึกถึง
แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้ว่าบุหรี่มีโทษอย่างไรบ้างต่อตัวผู้สูบและผู้ที่อยู่รอบข้าง บุหรี่เป็นเหตุให้เกิดโรคและความผิดปกติสารพัดอย่าง ทั้งอาการพื้น ๆ ที่เพียงแต่ทำให้เสียบุคลิกอย่างเล็บและฟันเปลี่ยนสี ไปจนถึงโรคน่ากลัวอย่างมะเร็ง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูบ แต่ยังแผ่ไปถึงผู้ที่ได้รับ “ควันบุหรี่มือสอง” ด้วย ที่สำคัญ ผลจากควันร้ายนี้ยังไปไกลกว่านั้น ยิ่งใหญ่ถึงระดับประเทศ
ในประเทศไทยสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 11.4 ล้านคนในปี 2557 จากข้อมูลข้างต้น คุณคิดว่าประเทศจะสูญเสียอะไรบ้าง?
เมื่อผู้สูบบุหรี่ล้มป่วย จะมี “ต้นทุน” 2 ประเภทเกิดขึ้น ประเภทแรกคือต้นทุนทางตรงที่เป็นเม็ดเงิน มีการจ่ายจริง ๆ เช่น ต้นทุนจากค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นประเทศไทย ต้นทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับรัฐบาล
อีกประเภทหนึ่งคือต้นทุนทางอ้อม ซึ่งเป็นสูงกว่าต้นทุนทางตรงอย่างมหาศาลคือ “ค่าเสียโอกาส” การล้มป่วยจะทำให้ขาดงาน บางคนจึงขาดรายได้ตามมา หรือกระทั่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แน่นอนว่ารัฐ หรือใครก็ตาม ไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนี้ และหากมองจากมุมมองของภาครัฐ การสูญเสียเหล่านี้คือการสูญเสียกำลังสำคัญซึ่งอาจทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อีกมาก จึงถือได้ว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ซึ่งอาจทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ช้ากว่าที่ควร
ข้อมูลจากงานวิจัย “การประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ: การพัฒนาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาต้นทุนความเจ็บป่วย” ปี พ.ศ. 2554 พบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยในเพศชาย มีต้นทุนต่อนักสูบหน้าใหม่ 1 คน มีค่าประมาณ 158,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร = 96,000 บาท และต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทําางาน = 62,000 บาท) ในขณะที่ผู้สูบุหรี่จะมีอายุสั้นลง = 4.6 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับเพศหญิงพบว่า ต้นทุนต่อนักสูบหน้าใหม่ 1 คนจะมีค่าประมาณ 85,000 บาท (แบ่งเป็นต้นทุนจากการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร = 32,000 บาท และต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทําางาน = 53,000 บาท)ในขณะที่ผู้สูบจะมีอายุสั้นลง = 3.4 ปี ในส่วนของต้นทุนการรักษาพยาบาลของผู้สูบบุหรี่จะเพิ่มถึง 2.1 เท่าในเพศชาย และ 2.4 เท่าในเพศหญิง
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ถ้าเลิกสูบได้เร็วเท่าไรยิ่งทําให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มากเท่านั้น ถ้าเพศชายที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี จะทำให้มีอายุสั้นน้อยลง 1.4 1.7 และ 2 ปีตามลําดับ และสามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 71,000 บาท 55,000 บาท และ 42,000 บาท ตามลําดับ ในขณะที่เพศหญิงที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ที่อายุ 30 35 และ 40 ปี จะทำให้มีอายุสั้นน้อยลง 0.6 0.8 และ 1 ปีตามลําดับ สามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 40,00 บาท 31,000 บาท และ 23,000 บาท ตามลําดับดับ
สอดคล้องกับผลการวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งศึกษาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของปัจจัยเสี่ยงทางด้านพฤติกรรมซึ่งทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพบว่า พฤติกรรมสูบบุหรี่นั้นก่อให้เกิดต้นทุนทั้งหมด 52,642 ล้านบาทในพ.ศ. 2552 – 2553
ประเทศไทยที่มีโรงงานยาสูบเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ แต่ก็ต้องรับภาระต้นทุนจากการสูบบุหรี่ดังกล่าว จึงต้องหาจุดสมดุลต่อไป
สามารถอ่านรายงานวิจัย “การประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ: การพัฒนาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาต้นทุนความเจ็บป่วย” ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/18938