ย้อนบทเรียน “ผ่าเต้านม เลาะซี่โครง ตัดต่อมน้ำเหลือง” เพื่อรักษามะเร็งเต้านม
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมทำได้หลายวิธี แต่รู้หรือไม่ ในอดีต การรักษามะเร็งเต้านมนั้นเน้น “ใช้วิธีแรงเข้าว่า” อย่างการตัดเต้านมแบบถอนราก (radical mastectomy) ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยใช้กันแล้ว หรือวิธีที่เรียกได้ว่า “อัดยา” ที่เป็นอันตรายสูงเข้าไปในร่างกาย เพราะเชื่อว่า ยิ่งการรักษารุนแรง ยิ่งเป็นพิษมาก ยิ่งกำจัดมะเร็งได้มาก แต่วิธีคิดแบบ “ยิ่งมากยิ่งดี” นี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายเกินจำเป็น
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งจากหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ที่แสดงให้เห็นผลร้ายจากการรักษา ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกินจำเป็นภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบการรักษา
การรักษายิ่งรุนแรงอาจไม่มีประโยชน์ และอาจมีโทษมากกว่า
การผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากคิดค้นขึ้นโดยวิลเลียม ฮาลสเต็ด และกลายเป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้กันมากที่สุดในช่วงปี 1975 โดยนอกจากแพทย์จะตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองออกดังที่คุ้นเคยกันในปัจจุบันแล้ว ยังมีการตัดกล้ามเนื้อหน้าอกออกด้วย หากความเลยเถิดของการผ่าตัดจบลงตรงนั้นก็คงยังพอทำเนา แต่มีหลักฐานว่าการผ่าตัดของแพทย์บางรายในสมัยนั้นกลับถึงขั้นเลาะซี่โครงผู้ป่วยออกเพื่อให้ตัดต่อมน้ำเหลืองเพิ่มได้อีก รวมถึงตัดต่อมต่าง ๆ ทั่วร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนซึ่งเชื่อกันว่าทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต!
แนวคิดแบบ “ยิ่งรุนแรงยิ่งดี” ที่ทำให้เกิดการตัดเต้านมแบบถอนรากนั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่ามะเร็งลุกลามอย่างมีแบบแผน เริ่มจากเนื้องอกที่บริเวณเต้านมไปยังต่อมน้ำเหลืองและรักแร้ เป็นเหตุให้เชื่อว่ายิ่งตัดต้นตอของเซลล์มะเร็งเร็วและรุนแรงเท่าไรก็ยิ่งกำจัดมะเร็งได้สิ้นซากขึ้นเท่านั้น
แต่ในภายหลัง ความเชื่อนี้ก็ถูกตีตกไป เพราะการศึกษามากมายยืนยันว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดตั้งแต่ก่อนพบเนื้องอกที่บริเวณเต้านม นั่นแปลว่าการตัดเต้านม ต่อมน้ำเหลือง และกล้ามเนื้อหน้าอก หลังจากที่พบเนื้องอกแล้ว อาจสายเกินไป และมีการเสนอวิธีการผ่าตัดแบบไม่ต้องตัดเต้านม แต่ผ่าตัดออกเฉพาะเนื้อร้าย ปัจจุบันแนวทางการรักษาเปิดโอกาสให้แพทย์และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมร่วมกันตัดสินใจได้ว่าจะใช้วิธีใดในการรักษา และหากจะการตัดเต้านม ก็มักใช้วิธีที่ไม่รุนแรงนัก ได้แก่ modified radical mastectomy แทน
การรักษามะเร็งเต้านมอีกวิธีหนึ่งที่เป็นผลมาจากแนวคิด “ยิ่งรุนแรงยิ่งดี” คือการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ (stem cell) โดยแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดในปริมาณสูงมากชนิดทำลายไขกระดูกได้เข้าในร่างกายผู้ป่วยโดยหวังจะกำจัดมะเร็งให้หมด จากนั้นแพทย์จะนำไขกระดูกหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เก็บจากร่างกายของผู้ป่วยไว้ล่วงหน้า ฉีดกลับคืนสู่ร่างกาย และหวังว่าไขกระดูกที่ฉีดกลับเข้าไปจะเจริญกลับมาแทนไขกระดูกที่ถูกทำลายไปทันก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิตเพราะติดเชื้อ!
ผู้ป่วยมากมายเรียกร้องที่จะเข้ารับการรักษานี้ แม้ว่าใน 100 คนที่รับการรักษา จะพบผู้เสียชีวิตถึง 5 คนรวมถึงสูญสิ้นทรัพยากรทางสุขภาพไปมหาศาล หลายปีต่อมาจึงได้มีการรวบรวมหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าวิธีการรักษานี้ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ใช้กันทั่วไปในเวลานั้น
กรณีบทเรียนการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบถอนรากและปลูกถ่ายไขกระดูกนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งคำถามกับการรักษาเพราะวิธีคิดบางอย่างที่ดูสมเหตุสมผลอย่าง “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งแรงยิ่งได้ผล” อาจกลายเป็นความเชื่อที่ผิดเมื่อนำมาใช้กับการรักษา
ผู้อ่านสามารถติดตามหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ที่จะเผยแพร่เป็นภาษาไทย (ไม่มีการจัดรูปเล่ม) ให้อ่านฟรีทางเว็บไซต์ www.testingtreatments.org เร็ว ๆ นี้ หรือสั่งซื้อฉบับเล่มราคา 265 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://goo.gl/8DJSN1 , รู้จักหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/172314