logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
การรักษาที่เราต้องสงสัย (2) : บอกสิ่งที่กังวล…และมาร่วมตัดสินใจกับหมอ

“การร่วมตัดสินใจ” อาจดูเป็นคำที่แปลกใหม่สำหรับการไปหาหมอเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่เป็น มิใช่เพียงสังคมไทย แต่รวมไปถึงสังคมโลกที่เริ่มตื่นตัวในคำถามที่ดูเหมือนง่ายแต่ที่จริงแล้วแสนยากนั่นคือ อะไรกันแน่คือ “วิธีการรักษาที่เหมาะสม ?” เพราะวิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่แพทย์อยากจะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ อาจเป็นวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยไม่อยากใช้ที่สุดก็เป็นได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยให้คุณ (และแพทย์) ได้ใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุดก็คือ “การร่วมตัดสินใจ” ซึ่งสิ่งนี้เป็น 1 ในประเด็นสำคัญจากหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” เรื่องราวต่อไปนี้อาจทำให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น

 

“เราขอให้ผู้ป่วยบอกถึงสิ่งที่กังวล ค้นหาข้อมูลการรักษาและมาเป็นคู่คิดเพื่อการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง”

แม้ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความต้องการหายจากโรคเหมือนกัน แต่ต่างก็มีลักษณะความต้องการในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อขาและข้อเท้าสำคัญกับนักฟุตบอลฉันใด การมองเห็นสีที่ไม่ผิดเพี้ยนก็สำคัญกับช่างภาพฉันนั้น และเพราะการหายจากโรคนั้นมีหลากหลายวิธีการรักษา ซึ่งแต่ละวิธีก็มักมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป บ้างมีผลข้างเคียงน้อยแต่ได้ผลไม่ดีนัก บ้างมีผลข้างเคียงรุนแรงแต่ก็ได้ผลชะงัด และบ้าง เช่น การผ่าตัด ก็เป็นวิธีการรักษาที่น่ากลัวในสายตาผู้ป่วย คงไม่มีแพทย์คนใดอยากบังคับให้ผู้ป่วยใช้สิ่งที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ แต่บางครั้งแพทย์เองก็ลืมไปว่าตนไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคืออะไร กล่าวอีกอย่างคือ แพทย์รู้ว่าอะไรน่าจะดีกับผู้ป่วย แต่ไม่มีทางรู้ว่าตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือไม่ ขณะที่ผู้ป่วยนั้นรู้ว่าตนต้องการอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้อะไรจึงจะดี การเลือกวิธีการรักษาจึงควรใช้ข้อมูลสองส่วนนี้มาประกอบกัน และเกิดขึ้นจากทั้งแพทย์และผู้ป่วยร่วมกันตัดสินใจ แพทย์ควรให้ข้อมูลกับผู้ป่วยให้รอบด้าน ทั้งผลดีและผลเสียของวิธีการรักษาที่อาจใช้ได้ ส่วนผู้ป่วยก็ควรกล้าที่จะออกความเห็นซึ่งแพทย์ก็ควรรับฟัง

ตัวอย่างเช่น โรคข้อเสื่อมซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อเสื่อม กระดูกอ่อนนี้จะอยู่ที่ส่วนปลายของกระดูกแต่ละชิ้นที่ประกอบกันทำหน้าที่ไม่ให้กระดูกบดเสียดกันเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเสื่อมจึงทำให้กระดูกเสียดสีจนอักเสบ และอาจลุกลามต่อไปเกิดเป็นหินปูน เป็นปุ่มกระดูกจับตามข้อได้ โดยโรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ และจะมีอาการปวดข้อเป็น ๆ หาย ๆ ทางเลือกการรักษามีตั้งแต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อในกรณีที่อาการรุนแรง และกินยาแก้ปวดจนไปถึงการออกกำลังกายเสริมในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจเลือกได้ว่าจะกินยาแก้ปวดหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยบางราย การกินยามีผลข้างเคียงทำให้ปวดท้อง ผู้ป่วยจึงอาจ “ร่วมตัดสินใจ” ด้วยการบอกแพทย์ว่าจะหยุดใช้ยา และเลือกออกกำลังกายทำกายภาพบำบัดที่ช่วยทำให้สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตเพิ่มได้อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยมากที่สุด

การร่วมตัดสินใจในการรักษานั้นมีขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่ตัวเองต้องการอย่างแท้จริง อีกตัวอย่างคือกรณี ข้อเท้าหัก ซึ่งเข้าเฝือกแข็งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากกว่า แต่ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อลีบ ผู้ป่วยสามารถ “ร่วมตัดสินใจ” ได้ว่าจะทางเข้าเฝือกหรือไม่เข้าเฝือกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง

ทั้งสองตัวอย่างที่ยกมาอาจเป็นกรณีที่ดูไม่รุนแรงนัก แต่หลักการเดียวกันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการรักษาโรคทุกโรค ตั้งแต่การให้ยาเคมีบำบัดในโรคมะเร็ง ไปจนถึงการผ่าตัดบางอย่างซึ่งมีผลข้างเคียงที่ถึงชีวิต การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ป่วยและแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเลือกได้ว่าการรักษาแบบไหนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญ รวมถึงความต้องการของผู้ป่วย

วิธีคิดและแนวทางการ “ร่วมตัดสินใจ” ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ผู้อ่านสามารถติดตามได้ในหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ซึ่งจะเผยแพร่เป็นภาษาไทยให้อ่านฟรีทางเว็บไซต์ www.testingtreatments.org เร็ว ๆ นี้ หรือสั่ง Pre-order ราคาพิเศษ 219 บาทจากราคาเต็ม 265 บาท (รวมค่าจัดส่ง) หมดเขต 15 กรกฎาคมเท่านั้นคลิก https://goo.gl/JLkTnB , ทำรู้จักหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” สามารถอ่านได้ที่ https://www.hitap.net/172314

12 กรกฎาคม 2561

Next post > การรักษาที่เราต้องสงสัย (3) : แม้อนุมัติแล้วก็ยังมีข้อควรระวัง

< Previous post ถอดวิธีคิด “ลำดับความสำคัญในถ้ำหลวง” ต้นทุน – เวลาและการช่วยชีวิตกับนโยบายสุขภาพไทย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ