logo
ไม่พบไฟล์สำหรับดาวน์โหลด

รายละเอียดเพิ่มเติม

นิธิเจน กิตติรัชกุล* ดนัย ชินคำ*
อรพรรณ โพธิหัง* นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร†
ยศ ตีระวัฒนานนท์* ศรีเพ็ญ ตันติเวสส*

บทคัดย่อ
กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันดำเนินโครงการ “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษา โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐาน และจัดทำเกณฑ์การประเมินเพื่อรับรองเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพใน 4 ระดับ (จากต่ำไปสูง) คือ ทองแดง เงิน ทอง และเพชร โดยหนึ่งในมาตรฐานการดำเนินงานที่สำคัญคือ บริการอนามัยโรงเรียน และมาตรฐานการดำเนินงานดังกล่าวกำหนดให้บันทึกและรายงานข้อมูลสุขภาพนักเรียน เพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการประเมินคุณภาพและการใช้งานข้อมูลที่ได้มาจากการให้บริการอนามัยโรงเรียน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ระบบบริหารจัดการข้อมูลภายใต้บริการอนามัยโรงเรียน ในขอบเขตของการตรวจสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ การประเมินภาวะการเจริญเติบโต การทดสอบสายตา การทดสอบการได้ยิน และการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน รวมถึงการให้วัคซีนแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา รูปแบบการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ใช้กระบวนการวิจัยแบบผสม (mixed-methods) และใช้การสุ่มแบบชั้นภูมิ ประกอบด้วย ชั้นภูมิที่ 1 คือหน่วยจังหวัด จำนวน 2 จังหวัด ชั้นภูมิที่ 2 คือหน่วยโรงเรียน จำนวน 9 โรงเรียน และชั้นภูมิที่ 3 คือหน่วยผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วยบุคลากรจากภาคการศึกษาและภาคสาธารณสุข รวมถึงผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวม 118 คน วิธีการเก็บข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม การทบทวนข้อมูลสุขภาพนักเรียน และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลสุขภาพนักเรียนที่เก็บไว้ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรและทองแดงนั้น ต่างก็ขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างมีการใช้เครื่องมือบันทึกและรายงานสุขภาพนักเรียนที่หลากหลาย โดยเครื่องมือเหล่านี้มีความซ้ำซ้อนของสิ่งที่ต้องบันทึก ซึ่งเป็นการสร้างภาระงานให้แก่ผู้รับผิดชอบ อีกทั้งหลังจากได้รับการรับรองแล้ว โรงเรียนไม่ได้จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับข้อมูลสุขภาพนักเรียนในแต่ละเรื่องของบุคลากรของโรงเรียนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความแตกต่างกัน โดยบุคลากรของโรงเรียนบันทึกเฉพาะข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงเพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมุ่งเน้นการบันทึกข้อมูลตามตัวชี้วัด ซึ่งไม่สัมพันธ์กับข้อกำหนดของมาตรฐานการดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพนักเรียนระหว่างภาคการศึกษาและภาคสาธารณสุขที่ไม่เป็นแนวทางเดียวกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพยังขาดระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขาดการติดตามเก็บข้อมูลสุขภาพนักเรียนอย่างเป็นระบบ
คำสำคัญ: ระบบข้อมูล, ระบบรายงาน, สุขภาพ, นักเรียน, เครื่องมือ, แบบบันทึก, โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ

Full Text: http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4914

ไม่พบไฟล์สำหรับการดูออนไลน์