เครื่องเพทซีทีสามารถตรวจความผิดปกติได้ถึงระดับการใช้พลังงานของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค วางแผนและติดตามผลการรักษาโรคบางอย่างได้รวดเร็วและแม่นยำ อย่างไรก็ตามเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวมีราคาแพงมาก ประเทศไทยใช้เครื่องเพทซีทีอย่างไม่คุ้มค่าทั้งที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว เช่น มีเพียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่สามารถเข้าถึงได้ฟรี ในกรณีโรคมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ภายใต้ข้อบ่งชี้ที่กำหนด ขณะที่ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม หรือผู้ป่วยทุกสิทธิฯในโรคอื่น ๆ ต้องจ่ายค่าบริการเองประมาณ 40,000 – 50,000 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง
จากการทบทวนรายงานการศึกษาในต่างประเทศด้านประโยชน์และความคุ้มค่าของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที เพื่อค้นหาข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมพบว่า เครื่องเพทซีทีมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคในข้อบ่งชี้ต่อไปนี้
- กำหนดตำแหน่งจุดกำเนิดของการชักก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชัก
- การวินิจฉัย Atypical Alzheimer disease
- การวินิจฉัยการมีชีวิตของกล้ามเนื้อหัวใจ
- การวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
- การประเมินการกลับเป็นซ้ำและประเมินก่อนการผ่าตัดหลังพบการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- การวินิจฉัยก้อนในปอดรวมถึงกำหนดระยะของโรคและวางแผนเพื่อการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งปอด
- การกำหนดระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin ก่อนการรักษาและประเมินการตอบสนองต่อการรักษา
- การวางแผนการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยรังสี
นอกจากนี้ยังพบว่า แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีการใช้เครื่องเพทซีทีในโรคมะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งรังไข่ มีความคุ้มค่ามากกว่าแนวทางการดูแลรักษาที่ไม่ได้ใช้เครื่องเพทซีที จึงเสนอให้มีการศึกษาภาระงบประมาณต่อระบบระบบประกันทั้งสาม ก่อนตัดสินใจเพิ่มสิทธิประโยชน์การวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีในข้อค้นพบใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและลดความเหลื่อมล้ำ