ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หนังสือพิมพ์: ไทยรัฐ
ฉบับวันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2017
“นวัตกรรมการนวดตา”…เป็นวิธีการลดความดันลูกตาโดยไม่ต้องใช้ยา การผ่าตัด หรือเลเซอร์ เป็นวิธีเพิ่มการไหลเวียนเลือดเข้าไปในลูกตา เพื่อหล่อเลี้ยงระบบประสาทตา
อย่าไปรักษาด้วยการนวดตา เพราะจะทำให้ตาบอด! อย่าไปรักษาด้วยการนวดตา เพราะจะทำให้ขาดโอกาสรักษาที่ถูกต้อง!“พูดกันอย่างนี้เหมือนกับว่าผมเป็นหมอเถื่อน ที่ไม่ใช่แพทย์ รักษาโดยไม่มีความรู้การแพทย์แผนปัจจุบัน” เสียงจาก นายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์เฉพาะทาง ผู้คิดค้นนวัตกรรมนวดตา ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “เทคนิคการนวดตา…เป็นวิธีลดความดันลูกตาที่จักษุแพทย์ใช้กันอยู่ก่อนจะผ่าตัดต้อกระจก ถ้าวิธีนี้ทำให้ตาบอด การผ่าตัดต้อกระจกก็ต้องทำให้ตาบอดเช่นกัน”
คำถามสำคัญมีว่า…นวัตกรรมการนวดตา “ดี” หรือ “เลว” ทำไมไม่ยอมพิสูจน์ข้อเท็จจริง?
นายแพทย์สมเกียรติ เล่าให้ฟังว่า จากการค้นพบนวัตกรรมการนวดตาโดยบังเอิญเมื่อปี 2548 ว่าสามารถช่วยผู้ป่วยโรคต้อหินไม่ให้ตาบอดและสามารถทดแทนยา การผ่าตัด หรือเลเซอร์ที่จักษุแพทย์ใช้กันอยู่ได้ และได้เคยรายงานการค้นพบนี้ให้กับทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ตามหนังสือถึงประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2549 …ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากจักษุแพทย์ โดยเฉพาะจักษุแพทย์ทางด้านต้อหินตั้งแต่บัดนั้นจนวันนี้ “ผมอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถทำวิจัยได้ด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ได้ทำงานอยู่ในสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง ฉะนั้น…จึงจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการแพทย์ของรัฐที่มีหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมีความพร้อมทั้งงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือทางการแพทย์ที่ซับซ้อนในการทำวิจัย พยายามที่จะผลักดันให้มีการวิจัยเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ถูกขัดขวาง วางหมากล่อ และล้มงานวิจัย”
ครั้งแรก…ได้ติดต่อคุณหมอวิวัฒน์ โกมลสุรเดช จักษุแพทย์ รพ.เมตตาประชารักษ์ ในการที่จะทำวิจัยร่วมกันตามหนังสือราชการของ รพ.เมตตาประชารักษ์ ที่เสนอขออนุมัติงานวิจัยต่อกรมการแพทย์ เลขที่ สธ. 0306/140 ลงวันที่ 7 เมษายน 2549 บังเอิญว่า…หนึ่งในคณะกรรมการที่สัมภาษณ์เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงงานวิจัย เป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต้อหินจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านได้ปฏิเสธโครงงานวิจัยนี้ โดยให้เหตุผลว่า…ทุกวันนี้โรคต้อหินเรื้อรังสามารถรักษาได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำวิจัย
ครั้งที่สอง…เกิดจากการนำเสนอข้อมูลการคิดค้นในที่ประชุมนอกสถานที่ของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีอาจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานในที่ประชุม และมีตัวแทนผู้ป่วย 3 ราย เข้าให้ ข้อมูลผลการรักษาโรคต้อหินเรื้อรังด้วยการนวดตา โดย 2 ใน 3 ราย เป็นแพทย์ที่ป่วยด้วยโรคต้อหินเรื้อรัง และ 1 ใน 2 รายดังกล่าว ตาบอดแล้ว 1 ข้าง ผลของการประชุม อาจารย์ประเวศได้แนะนำให้หน่วยงาน HITAP (โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ) ที่เป็นองค์กรอิสระ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการวิจัยเพื่อนำผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ
คุณหมอยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการ HITAP ได้ทำหนังสือเชิญไปยังราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในการวิจัย เพื่อให้งานวิจัยมีผลสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ทางราชวิทยาลัยปฏิเสธเข้าร่วมงานวิจัย ทำให้งานวิจัยถูกล้มอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งที่สาม…เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ผู้สื่อข่าวภูมิภาคของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งได้ทราบเรื่องของคุณสุพัตรา รอสเวช อดีตพยาบาลโรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ที่ป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดหนึ่ง เคยตระเวนรักษาทั่วประเทศไทย จักษุแพทย์ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร? และไม่ทราบว่าจะรักษาอย่างไร? สามีซึ่งเป็นชาวอเมริกันจึงพาไปตรวจที่มหาวิทยาลัยแพทย์ Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา จักษุแพทย์อเมริกันแม้จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดที่เรียกว่า Bietti’s crystalline dystrophy แต่ก็รักษาไม่ได้ หลังจากผิดหวังกลับมาก็เตรียมชีวิตที่จะต้องเผชิญในโลกมืด
แต่บังเอิญมีรุ่นพี่ที่รู้จักแนะนำให้ลองมาตรวจรักษาด้วยการนวดตา หลังจากที่รักษาแล้วการมองเห็นดีขึ้นจนสามารถอ่านตัวอักษรเป็นคำๆและเป็นบรรทัดได้ ทำให้ผู้สื่อข่าวอดสงสัยไม่ได้ว่า เรื่องดีๆเช่นนี้ทำไมไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ จึงสัมภาษณ์ผู้ป่วยและคุณหมอ ลงตีพิมพ์ในหน้าข่าวภูมิภาคต่อเนื่องอยู่หลายวัน จนกระทั่งผู้สื่อข่าวส่วนกลางไปสัมภาษณ์ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ในขณะนั้น สรุปใจความสำคัญบทสัมภาษณ์ “การนวดตา” ยังไม่ได้ผ่านการวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริง และห้ามผู้ป่วยโรคต้อหินกระทำการนวดตา เพราะจะทำให้ตาบอด และยังส่งเรื่องให้กองการประกอบโรคศิลปะดำเนินการเอาผิดฐานโฆษณาโอ้อวดการรักษา และส่งเรื่องให้แพทยสภาเอาผิดทางจริยธรรม แต่ทั้งสองหน่วยงานก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมต้องการทราบความจริง และแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะทุกคน สามารถใช้ศาสตร์การนวดกับผู้ป่วยได้อยู่แล้วตามกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ลงนาม โดยนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องราวดำเนินต่อไป ยังมีการไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด แต่ได้สั่งการห้ามรักษาด้วยการนวดตา ทำให้เครือข่ายผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม รวมตัวประท้วงที่ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบกับทางผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก และอธิบดีกรมพัฒนาแผนไทยฯในขณะนั้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เชิญ นายแพทย์สมเกียรติ และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาด้วยการนวดตาเข้าไปให้ข้อมูล จนได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนนำเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้เรื่องนี้ยุติลง
ขณะที่ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ เมื่อไม่สามารถปกปิดเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว จึงได้เชิญประชุมร่วมเพื่อยุติข้อขัดแย้งนี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยมีผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือกและคณะผู้แทนแพทยสภา ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่รักษาด้วยการนวดตา
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ นายแพทย์สมเกียรติ มีโอกาสเข้าไปให้ข้อมูลแก่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ซึ่งประธานราชวิทยาลัยฯขอให้ทุกฝ่าย หยุดให้สัมภาษณ์ “ผมได้ยืนยันมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่า ต้องการให้ทางราชวิทยาลัยจักษุฯ ทำการวิจัยยืนยันผลเพื่อพิสูจน์ว่าการนวดตา มีประโยชน์หรือโทษต่อผู้ป่วย ซึ่งประธานราชวิทยาลัยฯได้รับข้อตกลง แต่ประธานฝ่ายวิชาการ…ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ทางด้านต้อหินต่อรองให้ทำวิจัยโรคจอประสาทตาเสื่อมอาร์พีก่อน และยังไม่ให้วิจัยโรคต้อหิน”
แต่…ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการประชุมคราวนั้น คือสถาบันใดจะเสนอตัวทำวิจัยโรคนี้ ปรากฏว่าต่างเงียบและวางเฉยโดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนแพทย์ จนคุณหมอปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ได้เสนอตัวให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์เป็นสถาบันที่จะทำวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตัดฉับมาในปี 2558 ยุค คสช.ได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งให้กรมการแพทย์ดำเนินการวิจัยเรื่องการนวดตา และในที่สุดก็อยู่ในวังวนเหมือนเดิม บทสรุปในเรื่องนี้ยังวนเวียนอยู่ที่ปุจฉาสำคัญสั้นๆเพียงว่า ใคร …เป็นฝ่ายที่ต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง? ใคร…เป็นฝ่ายที่หนีความจริง? และใคร…เป็นฝ่ายที่หวังดีกับผู้ป่วยกันแน่?
16 กุมภาพันธ์ 2560