ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หนังสือพิมพ์: โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่: 1 พฤศจิกายน 2016
โดยที่ค่ายาเป็นส่วนสำคัญในค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและมี ช่องทางรั่วไหลได้มาก หลายประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก จึงพยายามหามาตรการควบคุม มาตรการสำคัญประการหนึ่งคือการจัดทำบัญชียาจำเป็น (Essential Drug List) ขึ้น ประเทศไทยก็นำมาตรการนี้มาใช้โดยประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติด้านยาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยเรียกชื่อว่า บัญชียาหลักแห่งชาติ
สมัยนั้นประเทศสวีเดนมีรายการยาในบัญชียาจำเป็นไม่ถึง 300 รายการ ขององค์การอนามัยโลกก็เช่นเดียวกัน บัญชียาหลักแห่งชาติของไทยสมัยแรกมี 370 รายการ รูปแบบยา (Dosage Form) 408 รายการ เพียงพอสำหรับรักษาโรคทุกโรค ต่อมามีการปรับปรุงเพิ่มรายการยาใหม่ๆ เข้าไปอีกเป็น ระยะๆ ตัดบางรายการออกบ้าง ปัจจุบันมีรายการยาทั้งสิ้น 692 รายการ เพียงพอสำหรับรักษาโรคทุกโรค สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการค่าใช้จ่ายบานปลายมาอย่างต่อเนื่อง แทนที่กรมบัญชีกลางจะหาทางควบคุมในจุดใหญ่ๆ เหล่านี้ กลับเปิดช่องทางให้ค่าใช้จ่ายบานปลายมากขึ้น โดยการอนุญาตให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ “ตามเงื่อนไขที่กำหนด” ซึ่งค่อนข้างหละหลวม นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ “กระเป๋าฉีก”
กรมบัญชีกลางยังทำให้ “กระเป๋าฉีก” โดยขาดธรรมาภิบาล กรณีละเว้นการพิจารณาปรับลดราคายาและเวชภัณฑ์หลายรายการ โดยกรมบัญชีกลาง ยอมให้เบิกจ่ายได้ในราคาที่สูงกว่า ราคาที่ สปสช.สามารถต่อรองได้มาก ตัวอย่างเช่น
หนึ่ง กรณีเลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ สำหรับใช้ผ่าตัดรักษาต้อกระจก สปสช.ซื้อได้ในราคาอันละ 2,800 บาท กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ในราคา 6,000 บาท (ประกันสังคมให้เบิกได้ในราคา 4,000 บาท)
สอง สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจสำหรับรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สปสช.ซื้อได้ในราคาชุดละ 6,800 บาท กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ในราคา 3.5 หมื่นบาท (ประกันสังคมให้เบิกได้ในราคา 1 หมื่นบาท) สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจที่มีน้ำยาเคลือบกันตีบซ้ำ (Drug-Eluting Stent) สปสช.ซื้อได้ในราคาชุดละ 2 หมื่นบาท กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ในราคาชุดละ 4.5 หมื่นบาท (ประกันสังคมให้เบิกได้ในราคา 4.5 หมื่นบาท)
สาม ข้อเข่าเทียมชนิดที่ส่วนรับน้ำหนักเคลื่อนไหวได้ สปสช.ซื้อได้ในราคาชุดละ 5 หมื่นบาท กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ในราคาชุดละ 7.5 หมื่นบาท (ประกันสังคมให้เบิกได้ในราคา 7.5 หมื่นบาท)
สี่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สปสช. กำหนดให้โรงพยาบาลเรียกเก็บได้ครั้งละ 1,500 บาท กรณีคนไข้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วไป กรณีคนไข้สูงอายุหรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นให้เรียกเก็บได้ครั้งละ 1,700 บาท โดยห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเพิ่มจากคนไข้ กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ครั้งละ 2,000 บาท เท่ากับประกันสังคม โดยไม่ห้ามเรียกเก็บเพิ่มจากคนไข้
ห้า ยาอิริโทรพอยเอติน รักษาคนไข้โรคเลือดธาลัสซีเมีย สปสช.ซื้อได้ในราคาโด๊สละ 200 บาท กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ 1,400 บาท ส่วนประกันสังคมให้เบิกได้โด๊สละ 700 บาท ยานี้ปีหนึ่งใช้ 4 ล้านโด๊ส สปสช. ใช้ปีละ 2.2 ล้านโด๊ส เมื่อเทียบกับราคา ของกรมบัญชีกลาง สปสช. สามารถประหยัดเงินเฉพาะรายการนี้ได้ ถึง 2,640 ล้านบาท การที่กรมบัญชีกลาง (และประกันสังคม) ยอมให้เบิกจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาของ สปสช. มากมายขนาดนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครได้เงินส่วนต่างจำนวนมากนี้ไป ราคาที่แตกต่างกันนี้ กรมบัญชีกลาง (และประกันสังคม) ทราบหรือควรทราบดี เพราะทั้งสองหน่วยงานมีผู้แทนนั่งอยู่ในบอร์ด สปสช. และผู้เขียนก็เคยอภิปรายเรียกร้องให้ทั้งสองหน่วยงานนี้ไปพิจารณาปรับลดราคาลงมา แต่ไม่เป็นผล ถ้าลดทิฐิลงเสียบ้าง กรมบัญชีกลาง รวมทั้งกระทรวงการคลังน่า จะยอมรับว่า นอกจากปัญหาเรื่อง ธรรมาภิบาลแล้ว ยังมีปัญหา “มือไม่ถึง” ด้วย ดังเมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว หลังจากมีองค์กรและหน่วยงานเข้าไปช่วยตรวจสอบและควบคุมค่าใช้จ่ายลงได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอยู่ในวงเงินปีละ 6 หมื่นล้านบาท รองปลัดกระทรวงการคลังท่านหนึ่งก็มี “ความคิด กระฉูด” ในการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยจะสนับสนุนให้ใช้ “ยาชื่อสามัญ” แทน “ยาชื่อทางการค้า” ซึ่งราคาแพงกว่ามาก โดยใช้วิธี “จูงใจ” ว่า ถ้าใช้ยาชื่อสามัญจะให้เบิกได้ในราคาครึ่งหนึ่งของยาชื่อการค้า วิธีการนี้ฟังดูเผินๆ ก็ดูเหมือนจะดี แต่ความจริงก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะแทนที่จะกำหนดให้เบิกได้เฉพาะยาชื่อสามัญ โดยให้เบิกได้ใน “ราคากลาง” ซึ่งจะถูกกว่ายาตัวเดียวกันในชื่อการค้า แต่เมื่อกำหนดให้เบิกได้ในราคาครึ่งหนึ่งของยาชื่อทางการค้า ราคายาก็จะสูงขึ้นทันที กรณีดังกล่าวผู้เขียนได้ออกมาคัดค้าน และเคราะห์ดีที่กระทรวงการคลังเลิกล้มเรื่องนี้ไป
กรณียากลูโคซามีน ซึ่งใช้ “รักษา” โรคข้อเข่าเสื่อมที่ไฮแทปประเมินอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยจำนวนมากพบว่าไม่มีประสิทธิผลและไม่คุ้มค่า โดยบางประเทศให้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา กรมบัญชีกลางเคยแสดงความกล้าหาญให้ตัดจากรายการที่เบิกได้ แต่พอถูก “ผู้เชี่ยวชาญ” และกรรมการองค์กรวิชาชีพบางคนออกมาคัดค้าน กรมบัญชีกลางก็ถอยกรูด
ปัญหาเรื่อง “หมอยิงยา” และ “คนไข้เวียนเทียน” เบิกค่ารักษาเป็นปัญหาหนักอกของกรมบัญชีกลาง ซึ่งความจริงถ้ามีสติปัญญาและความกล้าหาญเพียงพอก็แก้ไขได้ไม่ยาก ประเด็นคนไข้เวียนเทียน ข้อมูลก็มีอยู่ในมือกรมบัญชีกลางแล้ว เรื่องหมอยิงยา เพียงตรวจสอบรายการยาที่มีการ สั่งจ่ายมากๆ ผิดสังเกต เชื่อมโยงกับแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีการเดินทางไปประชุมต่างประเทศ โดยได้สปอนเซอร์จากบริษัทยา และผู้ที่ชอบออกมาพูดสนับสนุนให้นำยาราคาแพงเข้าบัญชียาหลัก หรือบัญชียาโรงพยาบาล ก็จะตรวจพบได้ไม่ยาก ที่โรงพยาบาล พระนั่งเกล้าของกระทรวงสาธารณสุขก็เคยจับหมอยิงยาถูกตัวมาแล้ว คนที่ออกมาเชียร์วัคซีนเอชพีวี อยู่ปาวๆ โดยมีตำแหน่งสำคัญทั้งในองค์กรวิชาชีพและคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ลองตรวจสอบดูจะพบว่า มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับบริษัทยาที่ขายวัคซีน ท่านผู้นี้สมัยหนึ่งเมื่อมีการวางหลักเกณฑ์ว่า โครงการวิจัยวัคซีนเอดส์ต้องแสดงรายการที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ท่านก็ประกาศว่า ถ้ามีเกณฑ์ข้อนี้ท่านก็จะไม่ขอทำวิจัยเรื่องวัคซีนเอดส์เลย และก็ไม่ทำเลยจริงๆ
16 พฤศจิกายน 2559