เมื่อมีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ ระบบบริการปฐมภูมิช่วยคุณได้
เซอร์ วินส์ตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษ ชาวอังกฤษ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Healthy citizens are the greatest asset any country can have” ประชากรที่มีสุขภาพดี เป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่ามากที่สุดของประเทศ คำกล่าวนี้จะจริงแท้อย่างไร ก็เห็นได้จาก ทุกประเทศต่างยอมลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพและดูแลคนในประเทศของตนให้มีสุขภาพดี สำหรับประเทศไทยแล้วการส่งเสริมสุขภาพของคนในประเทศ ก็ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง
ปัจจุบันระบบสวัสดิการสุขภาพของไทยแบ่งเป็น 3 ระบบ ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคยคือ บัตรทอง ทั้ง 3 ระบบนี้อยู่ภายใต้โครงสร้างบริการสุขภาพเดียวกัน โดยแบ่งเป็น ระดับบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ ซึ่งแต่ละระดับจะมีลักษณะของการบริการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการประเมินการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าด่านแรกของบริการสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือ ระบบบริการปฐมภูมิ
ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข (Frist line health care services) มีบทบาทดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยประยุกต์ความรู้ทางวิชาการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ มีลักษณะผสมผสาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพ พร้อมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตัวเอง
บริการปฐมภูมิสำคัญอย่างไร บริการปฐมภูมิจะกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ มีการบริการในเขตพื้นที่ชนบท สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน สำหรับในเขตเมืองอาจเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครหรือศูนย์แพทย์ชุมชน จะเห็นได้ว่าบริการปฐมภูมิอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน คอยให้ความรู้กับประชาชน และบริการที่มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการทางการแพทย์ คือ รักษาถูกโรคถูกคน ถูกเวลา ทำให้ผู้ป่วยหายป่วยจากโรค และ ทางสังคม คือ การให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการผสมผสานการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพทางกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับกับการให้บริการ
ในการบริการปฐมภูมิจะเห็นได้ว่าเป็นการบริการที่รวม 2 ส่วนไว้ด้วยกันคือทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน แล้วนึกสงสัยไม่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการบริการปฐมภูมิที่เราได้รับนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ มีอะไรเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินและการตรวจสอบการให้บริการ คำถามนี้อาจจะได้รับการตอบในตอนนี้
โปรดติดตามในจุลสาร เรื่องการประเมินโครงการตัวชี้วัดบริการสุขภาพ (QOF) ปีที่ 9 ฉบับที่ 28 กันยายน-ธันวาคม 2559