logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

      ดิฉันเองก็ติดตามละครเรื่องนี้ เพราะมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นพอดี และก็สนใจกรณีแม่ของ “ดาว” มากเป็นพิเศษ เพราะดูเหมือนจะสะท้อนแม่ของเด็กชนชั้นกลางในบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ และเชื่อแน่ว่ามีแม่ในยุคปัจจุบันที่เข้าข่ายลักษณะเยี่ยงนี้ไม่น้อย
       ดาวเป็นเด็กสาวลูกคนเดียวที่เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น เชื่อฟังพ่อแม่ เป็นเด็กดีที่รักพ่อแม่ และพ่อแม่ก็รักลูกมาก เรื่องราวของดาวดำเนินไปตามปกติ แต่ฮอร์โมนช่วงวัยรุ่นในตัวดาวเริ่มไม่ปกติ ดาวเริ่มอยากรู้อยากเห็น อยากแสวงหาโลกภายนอกที่มีเพื่อนล้อมรอบ ในขณะที่แม่ก็ยังปฏิบัติกับดาวราวกับลูกเล็กเป็นปกติ คือดูแลใส่ใจเป็นห่วงเป็นใย
       แต่สิ่งที่ไม่ปกติเห็นจะเป็นความกังวลของแม่ที่มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นเพราะดาวเริ่มเป็นสาว ผู้เป็นแม่ก็ย่อมจะวิตกเป็นธรรมดา แต่ความวิตกกังวลของแม่ดาวกลับกำลังเป็นปราการด่านสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแม่ลูก
       เนื้อหาของเรื่องส่งบทให้แม่ดาวเป็นผู้กำหนดชีวิตลูก จัดการชีวิตลูกทุกอย่างโดยไม่ได้ฟังเสียงลูก ตัวอย่างหนึ่งของละครที่สะท้อนภาพได้ชัดก็คือ ขณะที่แม่กำลังนั่งดูทีวีอยู่ ดาวเข้ามาออดอ้อนเพื่อจะขออนุญาตไปเที่ยวกับเพื่อนในช่วงวันหยุด แต่แม่ไม่อนุญาต ทั้งยังบอกว่าได้สมัครเรียนพิเศษให้แล้วด้วย ดาวถามแม่ว่า “ทำไมแม่ไม่ถามสักคำว่าหนูอยากเรียนไหม” แม่ตอบด้วยน้ำเสียงเป็นปกติว่า “ทำไมต้องถามล่ะ สิ่งที่แม่เลือกให้หนูย่อมดีอยู่แล้ว”
       ในความเป็นจริงของชีวิต พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนี้หรือเปล่า เรามักจะกำหนดชีวิตให้ลูก ด้วยความเชื่อเองคิดเองว่าสิ่งที่เลือกให้ลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เลือกเพราะรักลูก โดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจ หรือคำนึงถึงความชอบของลูกเลย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เมื่อดาวเกิดพลาดพลั้งไปมีอะไรกับเพื่อนชาย และพยายามจะคุยกับแม่ โดยตั้งคำถามว่า “ถ้าหนูท้อง แม่จะว่าอย่างไร” แต่แม่กลับไม่สนใจและพูดกลับไปด้วยน้ำเสียงปกติว่า “ถามอะไรเนี่ย ลูกแม่เป็นเด็กดีไม่มีวันเกิดขึ้นหรอก” ยิ่งเท่ากับไปสร้างแรงกดดันให้กับดาว ที่ไม่มีวันที่จะพูดความจริงเรื่องเพื่อนชายกับแม่เด็ดขาด และแน่นอนยามเมื่อดาวเกิดปัญหา ดาวก็จะไม่เลือกปรึกษาแม่อย่างแน่นอน
       หรือแม้แต่สถานการณ์ล่าสุด ที่ดาวอยากไปดูคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่กับเพื่อน แต่ก็รู้ว่าแม่ไม่มีทางอนุญาตให้ไปแน่นอน ก็เลยโกหกแม่ว่าไปนอนบ้านเพื่อน
       ในขณะที่แม่ดาวก็อนุญาตแล้วแต่ก็ยังกังวลใจตลอดเวลา จนท้ายที่สุดทนไม่ได้ก็หาเรื่องด้วยการซื้อขนมเพื่อจะเอาไปให้ดาวและเพื่อนๆ กินกันที่บ้านเพื่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อไปแล้วถึงได้ทราบจากพ่อของเพื่อนดาวว่า เด็กสาวทั้งสามคนไปเที่ยวเขาใหญ่กันสามคน ทำให้แม่ดาวตกใจมากถึงกับต่อว่าพ่อของเพื่อนดาวว่า “ทำไมถึงปล่อยให้เขาไปกันเอง” และแม่ดาวก็พยายามกระหน่ำโทรศัพท์หาลูกสาวตลอดเวลา แต่ดาวก็ไม่ได้รับโทรศัพท์
       ตัวอย่างของแม่ดาว น่าสนใจและอยากนำมาสะท้อนว่าพ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีแม่แบบแม่ของดาวมากมายที่รักลูก และพยายามกำหนดชีวิตลูก ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่วิธีปฏิบัติกับลูกกลับกลายว่ายิ่งทำให้ลูกออกห่างจากแม่มากขึ้นเรื่อยๆ
       เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ โดยเฉพาะเด็กสังคมเมืองชนชั้นกลางมักได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะดี ที่ไม่อยากให้ลูกลำบากตรากตรำ ก็คอยพัดวีให้ทุกอย่าง หรือไม่ก็ไม่ยอมปล่อยให้ไปเผชิญโลกลำพัง เมื่อมีปัญหาใดๆ ก็มักจะยื่นมือไปช่วยเหลือในทันที แทบจะไม่ปล่อยให้ลูกเผชิญกับปัญหาหรือความลำบากเลย ก็ย่อมทำให้ลูกขาดภูมิต้านทานชีวิต
       กรณีของแม่ดาวดูเหมือนจะเป็นแม่ที่ดี มีความรู้ มีความรัก ห่วงใยใส่ใจลูกดีมาก แต่สิ่งที่แม่ดาวขาดก็คือ การรับฟังลูกด้วยความตั้งใจและความเข้าใจ
       การรับฟังลูกในทุกเรื่องราวด้วยสายตาของเขาอย่างตั้งใจจะทำให้แม่เข้าใจลูกมากขึ้น พวกเขาจะซึมซับได้ว่าแม่ตั้งใจรับฟังเขาหรือไม่ ทั้งยังจะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจว่าแม่รักเขา และพร้อมที่จะรับฟังเขาทุกเรื่อง และมันจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวลูก และสิ่งเหล่านี้ก็จะติดเป็นนิสัย เมื่อเขาเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะคิดถึงแม่และรับรู้ได้ว่าแม่คือคนที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะให้เวลาคุณภาพกับเขาทุกเมื่อ
       แม่แบบแม่ดาวคือ แม่ที่พยายามขีดเส้นทางชีวิตให้ลูกเดิน เพราะเชื่อว่าเส้นทางที่เลือกไว้ให้ลูกคือเส้นทางที่ดีที่สุด โดยที่จะชอบพูดย้ำกับลูกอยู่เสมอว่าเพราะแม่รักลูกถึงเลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้ให้ลูก โดยไม่ฟังเสียงของลูก
       ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ความรักของแม่ทำร้ายลูก ต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของตัวเองกันก่อนว่า ชีวิตของลูกเป็นของเขาเอง วันหนึ่งเมื่อเขาหรือเธอเติบโตขึ้นไปก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง พ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกไปได้ตลอดชีวิต แล้วเราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาสามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้ แม้ไม่มีพ่อแม่
       บางทีก่อนที่เราจะปฏิบัติอย่างไรกับลูก อาจต้องย้อนคิดกลับไปสมัยเราเป็นวัยรุ่นบ้าง ไม่ใช่เราไม่รักพ่อรักแม่ ไม่ใช่เราไม่เชื่อฟัง แต่เรา ณ วันนั้นมีเหตุผลมีความเชื่อของเราเอง วิธีสั่งสอนของพ่อแม่มีผลต่อความรู้สึกของตัวเราไม่น้อย แต่จะเป็นอย่างไรนั้น แต่ละคนคงไม่เหมือนกัน
       แต่อย่างน้อยน่าจะทำให้เราเข้าใจความเป็นวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น
       เรื่องนี้สะท้อนวิธีการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคนี้ได้เป็นอย่างดีว่าเราเป็นพ่อแม่แบบไหน 
       เวลาดิฉันเจอเด็กวัยรุ่นคุยกัน พวกเขามักจะถามกันเองว่า เหมือนตัวละครตัวไหนในเรื่องนี้ ความจริงคนเป็นพ่อแม่ก็น่าจะลองถามตัวเองเหมือนกันว่า เราเหมือนตัวละครตัวไหนในเรื่องนี้ 
       ใช้ละครเป็นกระจกเงาเพื่อทบทวนบทบาทความเป็นพ่อแม่ของเราว่าเข้าข่ายทำร้ายลูกด้วยความรักหรือเปล่า!!
       

22 สิงหาคม 2556

Next post > ชี้คนไทยแห่ตรวจสุขภาพเสี่ยงรับผลกระทบไม่รู้ตัว

< Previous post เปิดต้นทุนต่อหน่วย รพ.714 แห่ง จ่อลดเงิน-เพิ่มบริการกลุ่มต้นทุนสูง

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด