ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คลิกที่นี่
ข้อมูลการตรวจจับการลักลอบสินค้า ละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2555 มีถึง 250 คดี มูลค่าของกลางกว่า 7 ล้านบาท เป็นยาเสพติด 39 คดี โดยยาบ้าสูงสุดถึง 23,591 เม็ด กัญชา 46.9 กิโลกรัม ยาไอซ์ 1.35 กิโลกรัม และฝิ่นอีก 9.23 กิโลกรัม
ขณะที่สินค้าถูกกฎหมายก็มีการนำเข้าจำนวนมาก และคาดว่าจะมากยิ่งขึ้นหากก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) โดยปัจจุบันมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากลาวสูงถึง 57,055,748.53 บาท
พบว่าลูกชิดเชื่อมนำเข้าสูงสุด รองลงมาเป็นดักแด้ต้มสุก และกระเทียมแช่น้ำเกลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพก่อน อนุญาตให้นำเข้า
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. ให้ข้อมูลระหว่างตรวจเยี่ยมด่านอาหารและยาหนองคาย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อนำข้อมูลมาเตรียมพร้อมการเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ว่า จากการที่ประเทศไทยมีพรมแดนติดกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนำเข้าและส่งออก เพื่อรักษาคุณภาพและอำนวยความสะดวกในการผ่านทาง เนื่องจากเมื่อเข้าเออีซี การเข้าออกจะมีมากขึ้น หากไม่เตรียมพร้อมอาจมีสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ และละเมิดลิขสิทธิ์เล็ดลอดได้
ปัจจุบันสำนักงานด่านอาหารและยาได้จัดตั้งด่านอาหารและยา 44 แห่งใน 44 จังหวัด อาทิ ด่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ด่านอรัญประเทศ ด่านแม่สอด ด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน ด่านหนองคาย ฯลฯ โดยมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพียง 41 คน กระจายตามด่านอาหารและยาต่างๆ ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องจ้างลูกจ้างแบบเหมาอีก 88 คน
แต่เมื่อเข้าสู่เออีซี จำเป็นต้องมีบุคลากรเพิ่ม เบื้องต้นตั้งไว้อีก 173 คน แต่ปัญหาคือ ไม่มีอัตราในการบรรจุเป็นข้าราชการ ด้วยเหตุนี้จึงเตรียมเสนอรัฐมนตรี สธ.พิจารณาในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ไม่ได้มุ่งเพียงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เท่านั้น ระหว่างนี้ยังได้พัฒนาระบบในการตรวจสอบสินค้าผ่านด่านให้รวดเร็ว และมีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการทะลักของสินค้า ลดอุปสรรคในการนำเข้าส่งออก
“ทุกวันนี้การตรวจสอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ จะค่อนข้างใช้เวลา เนื่องจากต้องให้แน่ใจว่า ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ใช่สินค้าผิดกฎหมาย หรือมียาเสพติดเจือปน ทำให้อาจไม่สะดวกมากนัก และเมื่อเข้าสู่เออีซี ปัญหานี้จะมากขึ้น จากปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าการนำเข้าส่งออกรวม 6.2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่เออีซีจะสูงขึ้นอีกมาก” นพ.บุญชัย แจกแจง
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม เบื้องต้น อย.ได้ร่วมกับกรมศุลกากรในการเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ ปรากฏเป็นรายการในเอกสารกำกับสินค้า ในรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Agreement to Establish and Implement the ASEAN Single Window) ซึ่งจะทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอให้ตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ ก่อนการตรวจสอบจริงบริเวณหน้าด่าน 30 วัน ซึ่งจะลดขั้นตอนเรื่องเอกสาร ทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น การยื่นผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้ในออฟฟิศของผู้ประกอบการเอง จึงเป็นการอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึงหน้าด่านจะอนุญาตให้ผ่านได้ทันที ซึ่งยังต้องตรวจสอบสินค้าจริงอยู่ เพียงแต่ผ่านขั้นตอนยุ่งยากทางเอกสารนั่นเอง
จากระบบดังกล่าวขณะนี้ อย.ได้ร่วมกับกรมศุลกากร ในการดำเนินการกลุ่มเครื่องสำอางแล้ว แต่ยังไม่เต็ม 100% ซึ่งยังต้องพัฒนาระบบ โดยคาดว่าทั้งหมดจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และในเดือนเมษายน 2556 จะขยายไปยังกลุ่มวัตถุอันตราย ซึ่งจะให้ครอบคลุมทั้งหมดภายในปีนี้
“ไม่เพียงแต่ตรวจสอบสินค้าเข้าออก เพื่อป้องกันสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมายเล็ดลอดแล้ว ยังเน้นเรื่องคุณภาพ โดยจะมีการวิเคราะห์เอกลักษณ์ของเภสัชเคมีภัณฑ์ด้วยเครื่องวิเคราะห์สารโดย ใช้แสงอินฟราเรด และเครื่องวิเคราะห์สารตัวอย่าง ที่ไม่ทำลายตัวอย่างให้เสียหาย และจะมีการเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางที่นำเข้าด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นอีกด้วย” เลขาธิการ อย. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดเพื่อรองรับความท้าทายกับการก้าวสู่ “เออีซี” อีก 2 ปีเท่านั้น
7 กุมภาพันธ์ 2556