logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 (Prince Mahidol Award Conference 2016) ภายใต้หัวข้อ “Priority Setting Universal Health Coverage : จัดลำดับความสำคัญเพื่อประกันสุขภาพทั่วหน้า” ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และหน่วยงานระดับนานาชาติต่างๆ

ประเด็นสำคัญในการประชุมในครั้งนี้ คือ การจัดลำดับความสำคัญเพื่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน การจัดลำดับความสำคัญเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความสูญเสียการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพ ดังที่รายงานเรื่อง The World Health Report 2010 โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ทรัพยากรด้านสุขภาพของโลกถูกใช้ไปโดยไม่เกิดประโยชน์ถึง 20-40% หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทรัพยากรด้านสุขภาพนั้นมีอยู่อย่างจำกัดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การจัดลำดับความสำคัญ (priority setting) เป็นกลไกด้านที่นานาชาติ ทั้งรัฐบาล องค์กรด้านสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ กำลังให้ความสนใจ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ระบบประกันสุขภาพ และช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพ ทั้งงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรอื่น ๆ มาพัฒนาบริการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ได้ และทำให้ระบบประกันสุขภาพยั่งยืน นอกจากนี้การจัดลำดับความสำคัญยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างนโยบายด้านสุขภาพโดยอาศัยหลักฐานเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ภายในงาน สมเด็จพระเทพ ได้ทรงกล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า “…การจัดลำดับความสำคัญเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยใช้หลักฐานประกอบเพื่อความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่(โลก)ประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาคส่วนสุขภาพก็พบกับความท้าทายที่หลากหลายรวมถึงปัญหาด้านการจัดการ การจัดลำดับความสำคัญกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยรับประกันว่าทรัพยากรด้านสุขภาพจะถูกนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจัดหาชุดบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมและมีคุณภาพสูงให้กับประชาชนได้ การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญเนื่องจากเป็นกระบวนการที่อาศัยการถกเถียงอภิปรายและเป็นเครื่องมือที่ช่วยกำหนดการจัดหาบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่ประชาชนได้”

ภายหลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก ต่อประเด็นความสำคัญของการใช้หลักฐานเป็นข้อมูลประกอบการจัดลำดับความสำคัญและการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จและยั่งยืน

ในประเทศไทยมีการจัดลำดับความสำคัญเพื่อการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (HITAP) ภายใต้สำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนมีบทบาทในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยให้ตอบสนองความจำเป็นของประเทศโดยประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์

 

3 กุมภาพันธ์ 2559

Next post > นานาชาติร่วมแถลงสนับสนุนการใช้หลักฐานวิชาการจัดลำดับความสำคัญในระบบสุขภาพถ้วนหน้า

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญ การใช้สารชีวภาพรักษาโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิด systemic

Related Posts