logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“การเบิกจ่าย Stent” ช่องว่างสำหรับการพัฒนาต่อยอดสู่ความสำเร็จ ในระบบ “บัตรทอง” HITAP เสนอทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่ายพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพ

การเบิกจ่ายสายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารี่ด้วยขดลวด (Stent) ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นหนึ่งในรายการค่าใช้จ่ายของ สปสช.ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของเครื่องมือที่เบิกจ่ายได้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่บานปลายและอาจมีการใช้อย่างไม่สมเหตุผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกับ HITAP เสนอทางเลือกให้กำหนดราคาเพดานเบิกจ่าย กำหนดจำนวนและคุณลักษณะเฉพาะที่คล้ายกับระบบในต่างประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery disease) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยการรักษามีหลายรูปแบบ ได้แก่ การรักษาด้วยยา การผ่าตัดบายพาส การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือขดลวดค้ำยัน (PTCA balloon & Coronary stent) ที่ผ่านมา stent เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2556 stent ชนิดเคลือบยา มีมูลค่าการเบิกจ่ายชดเชยสูงเป็นอันดับหนึ่ง (369 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 สปสช. ประกาศนโยบายการจัดซื้อรวม stent โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหา โดยการจัดซื้อรวมนี้ช่วยให้ สปสช. สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมได้ในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจัดซื้อรวมทำให้ stent ไม่มีความหลากหลาย ทั้งชนิด ขนาดและความยาว เช่น ความยาวของ stent ที่มีอยู่ไม่พอดีกับรอยโรคของผู้ป่วย ทำให้แพทย์ต้องใช้ stent หลายชิ้นต่อกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มจำนวนการใช้และค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้นด้วย นอกจากนั้นการไม่มีการจำกัดจำนวน stent อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของความเหมาะสมในการใช้ คืออาจมีการสั่งใช้โดยไม่มีความจำเป็น และเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วย

ผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า การจัดซื้อ stent ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันเกิดปัญหาการเบิกจ่าย stent ในผู้ป่วยภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มูลค่าการเบิกจ่าย stent สูงขึ้นทุกปี ปัญหาอย่างหนึ่งเกิดจากไม่มีการกำหนดจำนวน stent ต่อผู้ป่วย ทำให้อาจเกิดการใช้อย่างไม่สมเหตุผล และไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เกิดการใช้งบประมาณที่สูงขึ้นตามมา นอกจากนั้นยังสามารถใช้ได้เพียง 2 ยี่ห้อ ซึ่งมีขนาดและความยาวให้เลือกไม่มาก ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและลักษณะรอยโรคของผู้ป่วย สำหรับรูปแบบการจัดซื้อและการเบิกจ่าย stent ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี พบว่า การจัดซื้อ stent เป็นไปในรูปแบบของการกระจายอำนาจให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อเอง ทำให้แพทย์มีทางเลือกในการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ และมีความหลากหลายตามต้องการได้ โดยในแต่ละประเทศมีระบบการเบิกจ่ายที่แตกต่างกันเพื่อควบคุมงบประมาณและการใช้ stent ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เช่น การกำหนดราคาเพดาน การจำกัดจำนวน stent ต่อผู้ป่วย 1 ราย

HITAP ได้ทำการศึกษาพร้อมเสนอแนะทางเลือกในการจัดซื้อ stent ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือให้เปลี่ยนจากการจัดซื้อรวมทั้งหมด ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายของ stent ที่อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยบางราย และไม่จำกัดจำนวนเบิกจ่ายเป็นการให้ สปสช.แบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกร้อยละ 75 ของงบประมาณในการจัดซื้อ stent ทั้งหมด ใช้ในการจัดซื้อรวมโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อในลักษณะเดิม แต่จำกัดจำนวนการใช้ stent อยู่ที่ 4 ชิ้นต่อผู้ป่วย 1 ราย-ต่อครั้งดังเช่นในต่างประเทศ และงบประมาณส่วนที่เหลือร้อยละ 25 จะให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยยาก มีปัญหาซับซ้อนสามารถใช้งบส่วนนี้จัดซื้อ stent ที่มีความจำเพาะ พิเศษ ราคาแพงที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางกรณี โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อให้ตามร้องขอจากโรงพยาบาล ทั้งนี้งบประมาณที่จัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันไปขึ้นกับข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์โรคหัวใจด้วยกัน เพื่อควบคุมการใช้ stent และนำไปสู่การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ภาพที่เกี่ยวข้อง

19 ตุลาคม 2558

Next post > การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อทางเลือกของระบบและโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยในอนาคต

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญ การประเมินบริการอนามัยโรงเรียน ระดับประถมศึกษา

Related Posts