logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ถกปัญหาร่วมจ่าย 30 บาท พบ รพ.แต่ละแห่งยังกังวลการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วน รพ.อำเภอ 6 แห่งหนักใจ มีแพทย์แค่คนเดียว ปลัด สธ.สั่งเกลี่ยแพทย์ในจังหวัดช่วย หากไม่พอมอบผู้ตรวจฯพิจารณา พร้อมแจง 30 บาทยุคใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน ขณะที่ ผอ.รพ.ส่วนใหญ่หวั่นเกิดปัญหา 4 เรื่องหลัก ด้าน อดีต ปธ.ชมรมแพทย์ชนบทเยาะ ตั้งตู้รับบริจาคคนไข้ให้มากกว่า 30 บาทเยอะ
       
       วันนี้ (21 ส.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมมอบนโยบายการร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า ตนได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มาร่วมประชุมมอบนโยบายและสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน โครงการร่วมจ่าย 30 บาท ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เพื่อให้หน่วยบริการมีการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนได้รับความสะดวกและสิทธิ ประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสอบถามพบว่า ส่วน ใหญ่มีความกังวลในเรื่องการเตรียมพร้อมบุคลากรที่ต้องพบปะประชาชน การชี้แจงให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจควรทำอย่างไร และการปรับปรุงแบบบันทึกการร่วมจ่าย 30 บาท ให้กะทัดรัดคุ้มค่า
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า นโยบาย ร่วมจ่าย 30 บาทยุคใหม่ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ การเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย รับบริการที่ใดก็ได้ตามความจำเป็น, ผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคน ทุกสิทธิรับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน การย้ายสิทธิ หรือย้ายที่อยู่ได้รับการบริการดูแลต่อเนื่อง, ผู้ป่วยทุกคน ทุกสิทธิได้รับยาที่จำเป็นและราคาแพงอย่างเท่าเทียม ตามมาตรฐานการรักษาของประเทศ ได้รับยาทั่วถึงตามความจำเป็นและทันการณ์
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ผู้อยู่ในสิทธิจะได้รับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะดูแลอย่างใกล้ชิด ใกล้บ้านใกล้ใจ หากจำเป็นต้องรับการปรึกษาจากแพทย์จะได้รับผ่านออนไลน์ รวดเร็ว ทันทีโดยระบบจะครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 2 ปี, เน้นเพิ่มคุณภาพอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล, ผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ 70 ปี ได้รับบริการไม่ต้องรอคิวนานในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยมีช่องทางพิเศษภายในปี 2555, สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้บ่อยขึ้นเป็นปีละไม่เกิน 4 ครั้ง โดยใช้เพียงบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้ที่มีเลข 13 หลักแสดง, โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป เพิ่มเวลาบริการผู้ป่วยนอกตั้งแต่ 08.00-16.00 น.จากปกติตรวจเฉพาะช่วงเช้า
       
       “ในการร่วมจ่าย 30 บาทจะมีผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศไปแล้ว 21 ข้อ โดยในข้อที่ 21 ระบุว่า แสดงความประสงค์ไม่ร่วมจ่ายได้ แต่หน่วยบริการต้องพิจารณาเป็นครั้งๆ ไปไม่ใช่ตลอด ซึ่งในส่วนของความพร้อมของหน่วยบริการขณะนี้มีโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอเพียง 6 แห่งเท่านั้น ที่ยังมีแพทย์ให้บริการเพียง 1 คน จากปกติต้องมีราว 3-4 คน ได้มอบเป็นนโยบายแล้วว่าต้องเพิ่มแพทย์ให้เกลี่ยจากภายในจังหวัดก่อน หากไม่สำเร็จจะต้องให้ผู้ตรวจราชการพิจารณา แต่จะต้องคำนึงถึงค่าตอบแทนของแพทย์ที่เหมาะสมด้วย ส่วนหลังเริ่มต้นการเก็บในวันที่ 1 กันยายนนี้แล้ว เกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขเป็นระยะๆ” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จากการรับฟังในที่ประชุม สรุป ได้ว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เกรงปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ไม่อยากให้สร้างความคาดหวังให้กับประชาชนมากเกินไปว่าจะต้องได้รับบริการ เช่นนั้นเช่นนี้หากร่วมจ่าย 2.เพิ่มขั้นตอนการให้บริการขึ้นอีก 3 ส่วน เริ่มจากพิจารณาว่าอยู่ในข่ายยกเว้นการร่วมจ่ายหรือไม่, ต้องให้ผู้ป่วยแสดงความจำนงจ่ายหรือไม่จ่าย และการออกใบเสร็จการร่วมจ่าย จะเป็นการสร้างความไม่ถึงพอให้ปับประชาชนมากขึ้น 3.การบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งการทำงานของคนและ ค่าเอกสาร และ 4.ไม่เป็นการตอบสนองนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นการแบ่งคนจนหรือไม่จนออกจากกัน
       
       “เท่าที่ฟังจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลระดับจังหวัดหลายแห่ง เชื่อว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนโยบายต้องทำตามแต่ในทางปฏิบัติจะไม่ยึดติดกับรูปแบบการ สั่งการจากส่วนกลางแต่จะดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง และส่วนตัวจากการพูดคุยกับเพื่อน ผอ.โรงพยาบาลระดับอำเภอเกี่ยวกับนโยบาย 30 บาท ส่วนใหญ่จะไม่เก็บ ไม่ทำ ไม่ประกาศ ยึดหลักไม่เก็บแต่ไม่ขัด ทำตามปกติเหมือนอย่างที่เคยทำมา เพราะการถามว่าประชาชนจะจ่ายหรือไม่จ่ายเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน ให้เกิดขึ้นโดยใช่เหตุ ที่สำคัญ มีคนบอกว่าไม่ต้องเรียกเก็บ 30 บาทจากชาวบ้านหรอก เพราะชาวบ้านบริจาคให้ รพ.มากกว่านี้เยอะ เพราะฉะนั้นรพ.แค่ตั้งตู้รับบริจาคแล้วมีคณะกรรมการกำกับดูแล ส่วนเงินนำเข้าเป็นบำรุง รพ.หรือมูลนิธิจะได้รับมากกว่าการจ่ายแค่ 30 บาท” นพ.อารักษ์ กล่าว

 

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102894

22 สิงหาคม 2555

Next post > “สุรวิทย์” ชี้การให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเด็ก 12 ปี ขึ้นอยู่กับ กก.วัคซีนแห่งชาติ

< Previous post Health cards to cover basic child care

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด