ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
อย.ยืนยันว่ามีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการนำเข้ายารักษาโรคจาก ต่างประเทศ โดยจะต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบและจับกุมการผลิตและจำหน่ายยาปลอมอย่างต่อ เนื่อง
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เปิดเผยกรณีมีการรายงานผ่านสื่อมวลชนว่า พบยารักษาโรคมะเร็ง และเบาหวานปลอมจากจีนส่งขายในไทยเป็นจำนวนมากว่า โดยขอชี้แจงว่าปัญหายาปลอมระบาดเป็นปัญหาที่ภาครัฐ และ อย.ให้ความสำคัญ โดยมีหลายมาตรการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหายาปลอมของประเทศไทย จนสามารถควบคุมปัญหายาปลอมให้อยู่ในวงจำกัดได้
โดยเฉพาะด่านอาหาร และยาทุกด่านทั่วประเทศได้ตรวจสอบยาที่จะนำเข้าประเทศอย่างเคร่งครัด โดยการนำเข้าฯ ยานั้น ผู้นำเข้าฯ ต้องมีใบอนุญาตนำเข้ายา และต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ในส่วนของยามะเร็ง และยาเบาหวาน ประชาชนมีโอกาสน้อยในการได้รับยาปลอม เนื่องจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของไทย ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายยาดังกล่าวตามสิทธิ์ได้
ขณะที่ยามะเร็งถือเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น โอกาสที่จะหายากลุ่มนี้จึงเป็นไปได้ยาก แต่เป็นไปได้บ้าง เช่น การจัดซื้อโดยสถานพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตาม อย. ได้เตือนไปก่อนหน้านี้แล้วว่าสถานพยาบาลควรจัดหายากับผู้จัดจำหน่ายที่ไว้ใจ ได้ และต้องไม่เลือกยาที่มีราคาถูกจนผิดสังเกต เพราะอาจเป็นยาปลอมได้ ซึ่ง อย.ได้มีมาตรการในการตรวจสอบจับกุมอย่างสม่ำเสมอ
เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.มิได้นิ่งนอนใจในปัญหายาปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบ และจับกุมผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาสามารถจับกุมยาปลอมรายใหญ่ๆ ได้ 20 ราย แบ่งเป็นความผิดจากการลักลอบนำเข้า 16 ราย และผู้จำหน่ายกระทำผิดกฎหมาย 4 ราย โดยสถิติยาปลอมที่จับได้ เป็นยากลุ่มรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งยาดังกล่าวปัจจุบันมีราคาแพง ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ยาก ทำให้มีการลอกเลียนแบบยาต้นแบบ ลักลอบขายตามท้องตลาด และแผงลอยทั่วไป ซึ่ง อย.เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในยากลุ่มประเภทรักษาอาการ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศกับ อย. ซึ่งจะมีการจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่าย ช่วยลดปัญหายาปลอมได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหายาปลอม คือความต้องการของประชาชน การเข้าถึงยา และราคายา ดังนั้น หากผู้ผลิตผู้จำหน่ายสามารถลดราคายา ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยา ปัญหาผู้ที่คิดจะผลิต หรือนำเข้ายาปลอมก็จะลดลงตาม
ส่วนวิธีสังเกตยาปลอม คือดูทะเบียนและเอกสารกำกับยา, สังเกตฉลาก ตัวกล่องว่ามีความลบเลือนของตัวหนังสือหรือไม่ และซื้อยาในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน เช่น คลินิก ร้านขายยา ส่วนร้านค้าประเภทแผงลอย หาบเร่ พบว่าส่วนใหญ่เป็นยาปลอมที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด หากผู้บริโภคพบเห็นแหล่งขายยาปลอม สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.โทร. 1556
http://bit.ly/P0YN6e
9 สิงหาคม 2555