logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: กรุงเทพธุรกิจ

ฉบับวันที่: 26 พฤษภาคม 2015

ชง2ทางคุมราคายารพ.เอกชนออกใบสั่งยาคนไข้ซื้อเองคิดราคาต้นทุนโรงงาน

“หมอเจตน์”แนะรัฐทบทวนจ่ายร่วมบัตรทอง
คณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล แพงเสนอ 2 ทางเลือกควบคุมค่ายาโรงพยาบาลเอกชน ออกใบสั่งยาให้คนไข้ซื้อจากร้านขายยาเองหรือคิดค่ายาตามราคาโรงงานโดยตัดต้นทุน อื่นๆ ออก โยนวงถกร่วมรัฐ วิชาการ ประชาชน เอกชน เลือกใน 2 สัปดาห์ “นพ.เจตน์” ชี้ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลรัฐขาดงบ ชงรัฐบาลพิจารณา “จ่ายร่วมบัตรทอง”
คณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหา โรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการค้าภายใน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ประชุมร่วมกันวานนี้ (25 พ.ค.)
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุป 4 เรื่องคือ 1.การแก้ปัญหาค่ายาในโรงพยาบาลเอกชนแพงนั้นได้มีข้อเสนอแบ่งออกเป็น 2 ทางเลือกคือ การปล่อยให้ราคายาเป็นไปตามกลไกการตลาด โดยประกาศราคายา และโรงพยาบาลออกใบสั่งยาให้ประชาชนสามารถนำใบสั่งยาของแพทย์ไปซื้อที่ร้านขายยาได้ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาร้านขายให้ได้มาตรฐานเพื่อที่ประชาชนจะได้รับยาที่มีคุณภาพ
ส่วนอีกทางเลือกคือ ยาที่จำหน่ายในโรงพยาบาลเอกชน ทางโรงพยาบาลจะต้องแยกราคายาออกจากค่าอื่นๆ ให้ชัดเจน และปิดราคายาตามราคาโรงงาน ส่วนการบวกเพิ่มกำไรจากนี้ทางโรงพยาบาลจะต้องสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการ ค่าเภสัชกร
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สภาเภสัชกรรม อย. กรมการค้าภายใน นักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ และภาคประชาชนไปเจรจาร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนว่าจะใช้แนวทางใดภายใน 1-2 สัปดาห์ หากไม่ได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันก็ให้มีข้อเสนอกลับมาเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป
3.การแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินั้นได้ให้ สพฉ. เป็นแกนกลางในเรื่องนี้ โดย 1. กำหนดนิยามคำว่าฉุกเฉินให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
2.ทุกโรงพยาบาลห้ามปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องรักษาจนพ้นวิกฤติ 72 ชั่วโมง ส่วนสพฉ.จะประสานไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ว่าจะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลใด หลังพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้ว แต่หากระบบไม่สามารถส่งต่อได้ สพฉ.จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก่อนจะแจ้งไปกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยปฏิเสธการส่งต่อจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลัง จากนี้เอง ส่วนในเรื่องของการเบิกจ่ายเงินนั้นโรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งให้ สพฉ.ทราบล่วงหน้าก่อน และสพฉ.จะพิจารณาตามฐานความปลอดภัยของผู้ป่วย และข้อมูลจากแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลนั้นจะต้องมีทีมเจรจากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อกำหนดราคาค่าหัตถการ ระยะเวลาในการรักษาให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังได้ตั้งกรรมการร่วมระหว่าง สพฉ.และ 3 กองทุน ทำหน้าที่พัฒนา แก้ปัญหาในโครงการดังกล่าวต่อไป
และ 4.เรื่องการเปิดเผยข้อมูลค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยที่สามารถรอได้นั้น นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี สบส.ร่วมกับกรมบัญชีกลาง กำหนดประเภทของโรคจำนวน 77 กลุ่มโรค ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของสบส. และลิ้งค์ไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นให้ประชาชนตัดสินใจก่อนรับบริการ ซึ่งต้องทำให้เสร็จใน 1 เดือน เช่นเดียวกัน
คณะกรรมการฯ จะมีการหารือข้อสรุปการแก้ไขปัญหาทั้งหมดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการชุดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป
“หมอเจตน์”ชงร่วมจ่ายบัตรทอง
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าววานนี้ (25 พ.ค.)ถึงปัญหาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงว่าคนไทยเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกที่หนีจากโรงพยาบาลรัฐที่มีความแออัดเพราะมีคนมาใช้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมีการกำหนดไว้ว่ากรณีเป็นเศรษฐกิจการตลาดให้รัฐดูแลค่ารักษา ค่ายาให้เป็นธรรมต่อผู้ไปใช้บริการ ซึ่งการจะเข้าไปควบคุมมากจะกลายเป็นผลลบโดยโรงพยาบาลเอกชนอาจจะหนีไปตั้งสำนักงานในประเทศอื่น
“ในการคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายมีอยู่ คือ การให้แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เห็นได้เด่นชัด และอยู่ที่คณะทำงานแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณา”นพ.เจตน์กล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า รัฐต้องคุ้มครองปกป้องผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่มีราว 48 ล้านคน ประกันสังคม ประมาณ 10 ล้านคนและสวัสดิการข้าราชการราว 5 ล้านคน ให้ได้รับคุณภาพการให้บริการในภาพรวมดีขึ้นสอดคล้องกับพันธกิจของรัฐด้านสุขภาพ โดยจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ
เขากล่าวว่าเมื่อรัฐมีงบประมาณที่จำกัดไม่สามารถเพิ่มงบประมาณให้โรงพยาบาลรัฐได้เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการให้ประชาชนที่อยู่ในสิทธิบัตรทองร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อเป็นการเติมเงินเข้าระบบสุขภาพของประเทศให้เพียงพอ แต่จะต้องไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อนและต้องไม่ใช่การร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ เพราะหากงบประมาณโตไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจะกระทบคุณภาพการให้บริการ เช่น กรณีมียาตัวใหม่ๆ ผู้ป่วยโรงพยาบาลรัฐก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เป็นต้น
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรัฐแต่ละแห่งจะแก้ปัญหางบไม่เพียงพอด้วยการนำงบในส่วนของสิทธิสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยกับงบบัตรทองที่ไม่เพียงพอก็พอทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดแต่เมื่อปี 2550 รัฐบาลมีนโยบายไม่เพิ่มงบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐไม่สามารถใช้เงินส่วนนี้ชดเชยได้แล้วจึงกลัวว่าจะกระทบคุณภาพการบริการ ซึ่งกรรมาธิการสาธารณสุขสนช.จะทำการศึกษาในประเด็นนี้ก่อน
ไฮแทปเผยผลศึกษายาไวรัสตับ
วันเดียวกัน ผศ.พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ ไฮแทป ( HITAP) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการศึกษาเปรียบเทียบยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ว่าไฮแทปได้ศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าจนได้มีการบรรจุยาฉีดสูตรพื้นฐาน หรือ พีอาร์ ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปัจจุบันเข็มละ 3,000 บาท การรักษาทั้งคอร์สประมาณ 48 สัปดาห์ราว 150,000 บาท
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาดังกล่าวเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามาก เช่น มีอาการโลหิตจางเหนื่อยล้า และผลข้างเคียงอื่นๆ จึงมีการมองหายาตัวใหม่ที่มาแทน ซึ่งปัจจุบันมียากลุ่มใหม่เรียกว่า ไดเร็ค แอคติ้ง แอนติไวรัล เอเจ็นท์ซึ่งมีประสิทธิผลสูงกว่าและพบอาการข้างเคียงน้อยกว่า โดยยากลุ่มนี้เป็นยากิน ซึ่งทีมวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาสูตรพื้นฐานและยาตัวใหม่ๆเห็นได้ชัดว่า การใช้ยาสูตรผสมระหว่างยาฉีดสูตรพื้นฐานและยาตัวใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใช้ในไทย มีประสิทธิภาพมากกว่าใช้ยาพีอาร์เดี่ยวๆ อย่างมีนัยสำคัญส่วนในเรื่องความคุ้มค่าต้องนั้นกำลังทำการศึกษาอยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้

27 พฤษภาคม 2558

Next post > วิจัยยาสูตรใหม่รักษาไวรัสตับอักเสบซี

< Previous post รักษาตับอักเสบซี 'สธ.'ชี้ยาไทยราคาถูก นักวิจัยเร่งศึกษาเสนอเข้าบัญชียา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด